วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

แชร์วนๆ ตักบาตรในน้ำ ศรัทธาของชาวบ้านด่านซ้าย จ.เลย

ท่ า ม ก ล า ง ข่าวสารมากมาย 

         คงเป็นเรื่องน่าเบื่อ..สำหรับผู้ที่ต้องติดตามข่าวในทุกๆ วัน แต่แล้ววันนี้ความน่าเบื่อได้หายไป เมื่อได้ดูคลิป ๆ นึง ชื่อว่าตักบาตรในน้ำด่านซ้าย2 เป็นคลิปที่ดูแล้วชอบมาก ๆ ดูแล้วปลื้ม ดูแล้วยกใจกว่าทุกข่าวของวันนี้ และอยากให้คนที่กำลังคิดว่าพุทธศาสนากำลังแย่แล้ว คลิปนี้กำลังบอกว่าก็ไม่แย่ไปซะหมด แต่สื่อไม่ได้นำเสนอมุมดีๆ ภาพดีๆ ที่ยังมีในสังคมต่างหาก   ที่ยังมีคนไทยที่รักพระพุทธศาสนาจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ปากบอกว่าอยากปฏิรูปพระพุทธศาสนา  แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนาก่อนคิดถึงตัวเอง คนเหล่านี้ มีอยู่จริง 

          ในคลิปเป็นภาพที่อ.ด้านซ้าย จ.เลย ฝนตกหนัก 2-3 วันติดกันทำให้น้ำท่วมบางพื้นที่  แต่ชาวบ้านไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนก็จะตื่นเช้ามาใส่บาตรทุกเช้า  ลองดูแล้วคุณทึ่งกับศรัทธาของชาวบ้านด้านซ้าย อยากให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็ง อยากให้สื่อลงภาพดีๆ แบบนี้อีกมากๆ มันเป็นการชี้นำความคิดในสังคมได้นะ



ตักบาตรในน้ำ ด่านซ้าย จ.เลย


 แ ล้ ว คุ ณ ล่ ะ..
คุณอยากให้ภาพคนไทย กับพระพุทธศาสนาเป็นแบบไหน ?

บทที่ 18 สารถีในฝัน (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)

เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล

โดยพระธาดา จรณธโร 
ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ (องค์กรสาธารณประโยชน์)
......................................


         ถ้าหลวงพี่ได้นิสัยรักการอ่านมาจากโยมแม่แล้วหลวงพี่ถ่ายทอดอะไรมาจากโยมพ่อ? ต้องบอกว่ามากมายทีเดียว จะค่อยๆเล่าให้ฟังไปทีละอย่างสองอย่างนะ..




         เวลาโยมพ่อขับรถออกต่างจังหวัดสมัยหลวงพี่ยังตัวเล็กๆ ท่านชอบเอาหลวงพี่นั่งตัก เวลาถนนว่างๆบางครั้งท่านจะเหยียบครัชแล้วให้หลวงพี่เปลี่ยนเกียร์ บางทีท่านก็ให้หลวงพี่บังคับพวงมาลัยโดยท่านคอยประคอง ท่านคงไม่ได้ตั้งใจสอนหลวงพี่หรอกเพราะหลวงพี่ยังเล็กมาก แต่ท่านก็มักจะพูดถึงเรื่องการขับรถอย่างถูกต้องและปลอดภัยเพราะท่านเรียนช่างยนต์มาโดยตรง หลวงพี่ได้ยินบ่อยๆก็ค่อยๆซึบซับ ครั้งหนึ่งท่านชมน้าเขยว่าขับรถดีนั่งสบาย เวลาเปลี่ยนเกียร์รถไม่มีกระตุกเลย หลวงพี่จึงจำฝังใจว่าการขับรถที่ดีคือต้องให้ผู้โดยสารสบาย อย่าขับกระชาก เปลี่ยนเกียร์ก็อย่าให้รถกระตุก ภายหลังเมื่อหลวงพี่หัดขับรถจึงพยายามฝึกให้ได้อย่างที่โยมพ่อสอน 

.. ก็ฝากไว้กับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าคิดว่าลูกยังเล็ก เราจะพูดจะทำอะไรก็ได้ ลูกไม่รู้เรื่องหรอก .. รู้


         ครั้งหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตะชีโวท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติโยมที่ญี่ปุ่น ในขณะที่หลวงพี่ยังทำงานอยู่ที่นั่น พระอาจารย์ที่ศูนย์ฯมอบหมายให้หลวงพี่ทำหน้าที่สารถีให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน หลวงพี่รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ตอบรับไปด้วยความปลื้มใจ แต่ก่อนพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านจะเดินทางมาถึงไม่กี่วัน หลวงพี่ประสบอุบัติเหตุขณะขับรถสกูทเตอร์ถึงกับต้องเข้าเฝือก อดได้บุญใหญ่เลย

        มีเหตุการณ์หนึ่งหลวงพี่จำได้ไม่ลืม ตอนยังอยู่เชียงใหม่คืนนั้นเราเดินทางจากอำเภอแม่แตงกลับเข้าแค้มป์กลางป่า โยมพ่อเป็นคนขับ หลวงพี่นั่งด้านหน้ากับท่านกับใครอีกก็จำไม่ได้แล้ว ที่กระบะด้านท้ายรถมีผู้โดยสารอีกหลายคน ขณะรถกำลังลงจากดอยสูงชัน ด้านหนึ่งติดเขาอีกด้านหนึ่งเป็นเหว หลวงพี่ได้ยินเสียงลมจากเบรคดังเป็นระยะๆ ซึ่งก็เป็นปกติของรถใหญ่ๆที่มีหม้อลมเบรค แต่แล้วก็รู้สึกว่ารถเพิ่มความเร็วขึ้น ทันใดนั้นโดยไม่ได้บอกกล่าวอะไรเลย โยมพ่อหักพวงมาลัยเข้าชนภูเขา ผู้โดยสารไม่รู้ตัวก็กระแทกเข้ากับตัวรถ มีหัวแตกหัวโนกันบ้างเล็กน้อย มารู้ตอนหลังว่าหม้อลมเบรคมีปัญหากระทันหัน โยมพ่อท่านรู้แล้วแต่ไม่ได้บอกให้ใครขวัญเสีย ท่านพยายามประคองจนสุดความสามารถ จนถึงจุดที่เหมาะสมท่านก็หักรถเข้าชนข้างทางให้รถหยุด ท่านบอกว่าถ้าเลยตรงนั้นไปก็เอาไม่อยู่แล้วอาจจะบาดเจ็บล้มตายกันทั้งหมด ... นี่คือการรวมเอาความรู้ ประสบการณ์ ความรับผิดชอบ และการตัดสินใจมาใช้ในนาทีคับขันของโยมพ่อ จนพวกเราปลอดภัยกันทั้งหมด







         ด้วยความรู้ที่ได้จากโยมพ่อ และนิสัยรักความสะอาดที่เรียนรู้จากวัดพระธรรมกาย สมัยที่หลวงพี่ทำงานและขับรถเอง แม้จะซ่อมรถไม่เป็นเหมือนโยมพ่อ แต่หลวงพี่ก็รักและดูแลรักษารถยนต์ (จริงๆแล้วก็ข้าวของแทบทุกอย่างนั่นแหละ) อย่างดีที่สุด ตอนสายวันเสาร์คือเวลาของการทำความสะอาดรถครั้งใหญ่ประจำสัปดาห์ ล้างจนรถสะอาดเอี่ยมไม่ต้องพึ่งคาร์แคร์ ทำบ่อยๆจนคุ้นมันก็ไม่ได้ใช้เวลาอะไรมากมาย จำได้ถึงความสุขใจตอนล้างรถเสร็จ มันเป็นความรู้สึกที่คนไม่ชอบล้างรถเองจะอดได้สัมผัส ทุกวันเมื่อกลับถึงบ้าน ถ้าไม่ดึกหรือเหนื่อยเกินไป หลวงพี่จะปัดฝุ่นและเม็ดทรายออกแล้วเอาผ้าหมาดๆลูบรถ แค่ไม่กี่นาทีมันก็สะอาด จนเพื่อนที่ทำงานสงสัยว่าหลวงพี่ล้างรถทุกวันเลยหรือ และก่อนออกรถทุกเช้าหลวงพี่ต้องเปิดฝากระโปรงรถดูระดับสารพัดของเหลว ตรวจดูความเรียบร้อยของทุกอย่างด้วยสายตา และเข้าเช็คที่ศูนย์ตามระยะสม่ำเสมอ การเรียนสายช่างมาทำให้หลวงพี่มีเครื่องมือที่จำเป็นครบ และดูแลทำความสะอาดรักษาเครื่องมืออย่างดี การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ใจสบายแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นอย่างมาก 



รถอีต๊อก


        ที่อุ้มผางชาวบ้านนิยมใช้รถไถแบบเดินตาม ใช้งานได้หลากหลาย ดัดแปลงหน่อยเดียวก็กลายเป็นเครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องปั่นไฟ เป็นได้กระทั่งยานพาหนะ ใช้ขนปุ๋ยและผลิตผลการเกษตร ใช้ขนไม้ลากไม้ไผ่ ตามป่าตามเขาที่รถธรรมดาไปไม่ได้ แต่ “รถอีต๊อก” มักจะไปได้ เคยได้ยินว่าชาวบ้านคนหนึ่งอุตส่าห์ไปถอยอีต๊อกคันใหม่มาใช้งาน แต่ไม่นานเท่าไหร่รถก็พัง เมื่อเอาไปซ่อม ช่างถามว่าเคยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องบ้างไหม เจ้าของรถตอบว่า อ้าวต้องเปลี่ยนด้วยหรือ? เงินก้อนพร้อมจะกระโดดออกจากกระเป๋าเสมอสำหรับคนที่ไม่รู้จักดูแลรักษาสมบัติ แต่ที่วัดนั้นคนหาและคนจ่ายมักจะเป็นคนเดียวกัน .. เจ้าอาวาส


  เ ข า ว ง พ ร ะ จั น ท ร์  


          ช่วงลงหลักปักฐานที่เขาวงพระจันทร์นี้ รถเช่าคันเดิมซึ่งเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อไปรับงานที่อื่น น้องผู้ประสานงานเลยติดต่อหาเช่ารถพร้อมคนขับมาให้จากส่วนกลาง หลวงพี่พยายามจะให้ได้รถขับเคลื่อนสี่ล้อแต่หาไม่ได้ แต่ถึงแม้รถเช่าคันใหม่จะไม่ใช่ 4x4 แต่สิ่งที่ได้มาทดแทนก็คือสารถีแก้ว สารถีคนนี้เป็นคนอีสาน ขับรถเก่งมาก (ถ้าโยมพ่อยังมีชีวิตอยู่ก็คงชมว่า เออ.. ไอ้คนนี้ขับรถใช้ได้) และไม่มีข้ออ้างข้อแม้อะไรเลย ภารกิจของหลวงพี่นั้นไม่มีวันหยุด และไม่มีเวลาตายตัว เช้า สาย บ่าย ค่ำ กลางวันกลางคืน กลางดึกกลางดื่น บางครั้งต้องขับรวดอุ้มผางถึงวัดพระธรรมกาย บ่อยครั้งที่ไม่มีกำหนดการล่วงหน้า แต่สารถีคนนี้ก็ยิ้มรับทุกภารกิจอย่างเต็มใจ คนขับรถทั่วไปมักจะขับรถอย่างเดียว (อ้าวก็จ้างมาขับรถไม่ใช่เหรอ?) ถ้าดีขึ้นอีกหน่อยก็คือบำรุงรักษาดูแลความสะอาดของรถ  แต่สารถีคนนี้ทำได้ดีกว่านั้นมาก เมื่อว่างจากขับรถเขาจะหางานอื่นทำเองเช่นตัดหญ้า ช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลสมบัติพระศาสนา มีความซื่อสัตย์ ถ้าจะเอารถไปทำธุระส่วนตัวจะขออนุญาตก่อน และจะถวายค่าน้ำมันรถคืนเสมอ เวลาใครจะใช้ให้ขับรถไปไหน เขาจะถามทุกครั้งว่าขออนุญาตพระอาจารย์หรือยัง เพราะหลวงพี่สอนเขาว่าสตาร์ทรถยนต์เมื่อไหร่ก็เสียเงินเมื่อนั้นต้องช่วยกันประหยัด แถมมีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับทุกคน  และทำหน้าที่เป็นอุปัฏฐากบางครั้งก็เป็นบอดี้การ์ดให้หลวงพี่ด้วย  ทำให้เป็นที่รักของทุกคน แม้ค่าเช่าค่าจ้างทั้งรถและคนจะสูงกว่าคันแรก แต่ก็เป็นอัตรามาตรฐาน โดยภาพรวมแล้วต้องเรียกว่าเป็นสารถีแก้วคู่ใจหลวงพี่ทีเดียว .. ภายหลังแม้มีรถเองแล้วอยากจะจ้างแต่คนขับ แต่เขาต้องผ่อนรถ หลวงพี่ก็ยินดีจ่ายทั้งรถทั้งคนเหมือนเดิม

          เป็นที่น่าเสียดาย ด้วยปัญหาส่วนตัวบางอย่างของเขา (และหลวงพี่คงทำบุญด้านบริวารสมบัติมาไม่ดีพอ) สารถีคนนี้ทำงานอยู่กับหลวงพี่แค่ประมาณปีเดียว หลวงพี่จึงต้องหาสารถีคนใหม่ จากที่ตั้งสเป็คไว้สูงมาก ก็ต้องค่อยๆลดสเป็คลง จนในที่สุด บางครั้งหาใครไม่ได้จริงๆ ต้องไหว้วานแม้กระทั่งเด็กอายุ 16-17 ปีที่ไม่มีใบขับขี่ให้ช่วยขับรถ

         ครั้งหนึ่งมีคนใหม่มาสมัคร เห็นบอกว่าขับรถมานาน วันนั้นมีธุระลงแม่สอดพอดี ก็เลยให้ทดลองงาน พอเข้าโค้งแรกเท่านั้น หลวงพี่ก็รู้ว่าเขาขับรถประมาท ชอบจับพวงมาลัยมือเดียวอีกมือหนึ่งพาดขอบหน้าต่าง เขาจะตัดโค้งกินเลนโดยยังไม่ทันจะดูให้มั่นใจว่ามีรถสวนมาหรือไม่ โดยเฉพาะโค้งขวาซึ่งหลวงพี่นั่งด้านซ้ายจะอยู่ในมุมที่เห็นก่อนว่ามีรถสวนมาหรือเปล่า แต่เขาจะตัดโค้งกินเลนเข้าไปก่อนทุกครั้ง หลวงพี่ถามว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าไม่มีรถสวน คำตอบคือมองลอดหน้าต่างไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากยังไม่รู้นิสัยใจคอกันหลวงพี่จึงไม่อยากเตือนขณะเดินทาง เดี๋ยวจะหงุดหงิดกันเปล่าๆ ก็คิดว่าไว้ถึงแม่สอดก่อนค่อยคุยกัน  แต่วันนั้นไปได้แค่ครึ่งทางแถวๆอุ้มเปี้ยม เขาตัดเลนเข้าไปชนกับรถที่สวนมา โชคดีที่หลวงพี่เปลี่ยนกันชนเป็นแบบเหล็กหนายังกับรถหุ้มเกราะจึงไม่มีใครเป็นอะไรมาก ถ้าเป็นกันชนเดิมๆที่ติดรถมา ตัวคนขับจอมประมาทนั่นแหละที่อาจจะไม่รอด และหลวงพี่ยังจะได้มาเขียนเรื่องนี้ให้พวกเราได้อ่านกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กระนั้นก็ต้องเอารถไปซ่อมอยู่ถึง 3 เดือน!


        คนบางคนนี่หาตัวแทนไม่ได้จริงๆ .. ยกเว้นสารถีแก้วคนนั้นแล้ว ก็เจอที่คุณสมบัติใกล้เคียงกันอีกคนหนึ่ง แต่มาช่วยอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ .. นอกนั้นเจอมาทุกรูปแบบ บางคนขับอย่างเดียว มีคติว่ารถล้างแป๊ปเดียวเดี๋ยวก็เลอะ อยู่ในป่าในเขาจะไปอวดใครที่ไหน (คิดอย่างนี้น่าให้อาบน้ำเดือนละครั้ง เพราะอาบเสร็จแป๊ปเดียวเหงื่อก็ออกอีกแล้ว) 


บางคนสนุกกับการขับรถ เห็นผู้โดยสารเวียนหัวเมารถ ดันหัวเราะชอบใจเสียอีก  บางคนเคยขับรถแต่ในป่า ไม่เคยขับในเมือง บางคนขับรถไม่เป็นเลย เข้าโค้งผิดจังหวะบ้าง ลงเขาเกียร์สูงบ้าง ใช้แป้นครัชเป็นที่พักเท้าซ้ายบ้าง บางคนแอบเอารถวัดไปใช้ส่วนตัว บางคนก็ขาซิ่ง เจอถนนขรุขระไม่มีเบา บางคนแม้ไม่มีหน้าที่ขับรถแต่แอบเอารถวัดไปหัดขับ รถขูดขีดตัวถังบุบไม่เคยบอก (คงคิดว่าหลวงพี่ไม่รู้หรอก) บางคนเจ้าชู้ บางคนปล่อยปละละเลยจนมดเข้าไปทำรังในรถ และเกือบทุกคนไม่เคยสนใจจะเช็คลมยางหรือเปิดฝากะโปรงรถดูเลย บางคนลืมไปว่ามากับพระ พอจอดตามปั๊มน้ำมันก็ไปหาของกินส่วนตัว (คงคิดว่าถ้าหิวเดี๋ยวพระอาจารย์ท่านก็ช่วยตัวเองเองแหละ) ที่แย่กว่านั้นให้สั่งอาหารให้ พออาหารมาส่งไม่ได้สนใจว่าของพระมาหรือยัง ลงมือก่อนเลย แถมไม่จำด้วยว่าใครสั่งอะไร กินของพระเข้าไปด้วย ปล่อยให้หลวงพี่นั่งรออาหาร(ชึ่งมันเข้าไปอยู่ในท้องคนขับเรียบร้อยแล้ว) อย่างนี้ก็เคยเจอ..





        หลวงพี่จึงต้องคอยดูแลรถเอง ลมยางอ่อนแข็งไปไหม? ถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือยัง? ผ้าเบรคใกล้หมดหรือยัง?  ลุยทางฝุ่นมาเป่าไส้กรองอากาศบ้างหรือเปล่า? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมือนทุกคนจะไม่เห็นว่ารถมันเลอะสมควรล้างได้(ตั้งนานแล้ว) ถ้าหลวงพี่ไม่เอ่ยปากเป็นไม่มีใครล้างรถ บางครั้งทนไม่ไหวต้องให้สามเณรล้างหรือลงมือเองทั้งๆที่มีภารกิจรอบด้าน แต่ดูเหมือนว่ายิ่งหลวงพี่เข้ามาช่วยดูแล ก็ยิ่งทำให้คนขับรถคิดว่าไม่ใช่งานของตัวเองอีกต่อไป ประมาณว่าฉันคือคนขับรถ ฉันจะขับรถเท่านั้น นอกจากนี้ใครเดือดร้อนก็ทำเองก็แล้วกัน (อาจคิดในใจด้วยว่า มาขับให้ก็บุญแล้ว ขาดฉันแล้วจะรู้สึก) แถมบางครั้งจะหาใช้เครื่องมือประจำรถก็หาไม่เจอเสียอีก ที่ว่ามานั้นสำหรับคนที่ต้องเดินทางบ่อยๆ และรักการดูแลรักษาข้าวของเครื่องใช้อย่างหลวงพี่แล้ว มันทำให้เหนื่อยยิ่งกว่าการเดินทางเสียอีก ในฐานะเป็นพระก็พูดก็สอนกันไป ที่ทำได้และต้องทำตลอดหลายๆปีที่ผ่านมาคือ .. ทำใจ

          คนขับรถดีๆส่วนใหญ่ต้องมีอายุพอสมควร แต่ก็มักจะอยากอยู่ในเมืองกับครอบครัว คนหนุ่มๆส่วนใหญ่ก็ใจร้อน ประสบการณ์น้อยแถมติดเที่ยว ใครจะมาขับรถให้และอยู่ในป่าได้นานๆเหมือนหลวงพี่? 

          ยกเว้นปีแรกแล้ว ตลอดเวลาที่ทำงานพระศาสนาอยู่ที่อุ้มผาง เรื่องคนขับรถ รวมถึงเรื่องการดูแลรักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรถและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่ใช้ในวัดนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่กินพลังงานสมองของหลวงพี่เป็นอย่างมาก หลวงพี่เคยปรารภเรื่องนี้ให้โยมท่านหนึ่งฟัง ท่านย้อนถามกลับว่า ก็หลวงพี่ไปอยู่ป่าทำใมล่ะ? อืมม.. จริงสินะ





          เจอคนขับรถดีและรู้ทาง พอขึ้นรถก็ได้หลับตาพักผ่อนบ้าง แต่ถ้าเจอคนขับรถไม่ดีละก็นอกจากไม่ได้พักแล้วต้องลุ้นกันเหนื่อยตลอดทาง ใครมีสารถีดีๆละก็ถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง




  ไม่รู้จะโทษใครนอกจากคิดว่าเราสร้างบุญบารมีมาไม่ดีเอง ..


6 ก.ย. 2559 17:59


โดยพระธาดา จรณธโร

ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์
(องค์กรสาธารณประโยชน์)




อ่านบทนำ - บทที่ 6ได้ที่ 
http://buddhisthotissue.blogsp ot.jp/2016/08/series_1.html


อ่านบทที่ 7 : ชีวิตคือการเดินทาง ได้ที่

อ่านบทที่ 8 : Been there .. Done that ..
http://buddhisthotissue.blogspot.sg/2016/08/8-been-there-done-that-series.html

อ่านบทที่ 9 : My way
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/9-my-way-series.html

อ่านบทที่ 10 : ซาโยนาระ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/10-series.html

อ่านบทที่ 11 : ชีวิตใหม่...ในเพศสมณะ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/11-series.html

อ่านบทที่ 12 : หนีเสือปะจระเข้
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/12-series.html

อ่านบทที่ 13 : จากเทือกเขาถนนธงชัยถึงสมุทรสงคราม
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/13-series.html

อ่านบทที่ 14 : อุ้มหัวใจไป...อุ้มผาง
http://buddhisthotissue.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 15 : อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน รุ่นห้าแสน
http://myalphabet2016.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 16 : สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/16-series.html

อ่านบทที่ 17 : กุฏิไฟไหม้กับตอไผ่
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/17-series.html

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

บทที่ 17 กุฏิไฟไหม้กับตอไผ่ (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)

เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล

โดยพระธาดา จรณธโร 
ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ (องค์กรสาธารณประโยชน์)
......................................



         หลวงพี่คิดอยู่นานว่าจะนำเสนอข้อมูลดังต่อไปนี้ดีไหมและอย่างไรดี? เพราะพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดที่จะไม่ทำให้ใครได้รับความเสียหายจากสิ่งที่หลวงพี่เขียน แต่ก็ต้องรักษาข้อแท้จริงเอาไว้ .. ก็ว่าไปตามเนื้อผ้าแล้วกันนะ ..

          .. มาอยู่ที่เขาวงพระจันทร์ไม่กี่วันพระรูปนั้นก็เริ่มมีทีท่าแปลกๆ ท่านบอกว่าชาวบ้านเริ่มสงสัยว่าหลวงพี่จะจัดบวชจริงๆหรือ ไม่เห็นก่อสร้างอะไรเลย (อ้าว.. ตอนไปชวนเรามาบอกที่กว้างกางเต๊นท์ได้เป็นร้อยหลัง) หลวงพี่ก็มีเหตุผล เพราะกว่าธรรมทายาทจะเข้าโครงการก็อีกสองสามเดือนโน่น พึ่งมาอยู่ไม่กี่วันจะรีบสร้างอะไรกัน แต่เมื่อท่านอ้างชาวบ้าน หลวงพี่ก็เลยของบเตรียมสถานที่จากวัดพระธรรมกายมาได้จำนวนหนึ่ง ตกลงกันว่าจะสร้างอาคารที่พักและห้องน้ำให้ธรรมทายาทตรงสนามด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านขวามือของพระยืน ตัวหลวงพี่เองไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้างเลย แค่ตกลงกันคร่าวๆว่า ให้ทำเป็นโรงนอนให้พักกันได้สักหลายๆสิบคน ประหยัดสุด ประโยชน์สูง อะไรต้องซื้อก็ซื้อ วัศดุอะไรที่วัดมีอยู่พวกไม้เก่าที่เก็บไว้ก็เอามาใช้ และให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้าง ให้ท่านเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยให้เงินท่านไปเป็นงวดๆ หลวงพี่ดูใบเสร็จที่ท่านไปซื้อวัสดุก่อสร้างเห็นว่าสมเหตุสมผลก็ไม่ได้ติดใจอะไร ดูท่านมีความสุขขึ้นทีเดียวเมื่อมีงานก่อสร้างและได้ชักชวนชาวบ้านมาช่วยกัน วันหนึ่งเป็นช่วงที่หลวงพี่ไม่อยู่ ทราบว่าท่านจัดทอดผ้าป่า มีการเข้าทรงฤาษีด้วย เพื่อหางบมาทำพื้นศาลา 

        แต่มีข้อสังเกตุว่าท่านจะไม่ยอมให้หลวงพี่อยู่กับชาวบ้านตามลำพังเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านไปทำธุระอย่างอื่นและผ่านมาเห็นหลวงพี่คุยกับชาวบ้านท่านจะต้องเข้ามาถามทุกครั้งว่าชาวบ้านคุยอะไรกับหลวงพี่บ้าง (ตอนหลังมาทราบว่าท่านก็จะไปถามชาวบ้านเช่นกันว่าหลวงพี่ถามอะไรบ้าง) วันหนึ่งหลวงพี่เข้าไปอาคารที่ท่านพักก็เห็นกล่องภายในมีปลอกกระสุนปืนที่ยิงแล้วอยู่จำนวนมาก ท่านบอกว่าใช้ทำตะกรุด หลวงพี่ก็เตือนท่านว่าพวกเดรัจฉานวิชานั้นอย่าไปยุ่งกับมันดีกว่า 






ตัวอย่างเดรัจฉานววิชา ตะกรุด 108 ดอกที่คาดเอา 

           วันหนึ่งท่านก็มาบอกว่าทำใมหลวงพี่ต้องเช่ารถและจ้างคนขับ ชาวบ้านว่ามันไม่จำเป็นเพราะอยากจะไปไหนมาไหนแค่บอกชาวบ้านเท่านั้นเองเขาพร้อมจะช่วย แต่ข้อนี้หลวงพี่ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะหลวงพี่ต้องออกไปชวนคนบวชไกลๆ ในป่าในเขาแทบทุกวัน รู้สึกเกรงใจชาวบ้าน (ภายหลังคนขับรถมารายงานว่า วันหนึ่งไปซื้อวัสดุก่อสร้างด้วยกัน คนขับรถเดินไปดูใบเสร็จที่ท่านซื้อของทำให้ท่านไม่พอใจมาก)



และแล้ววันสำคัญก็มาถึง 



         ภายในแค่ไม่ถึงเดือนนับแต่หลวงพี่ย้ายเข้ามาอยู่ที่เขาวงพระจันทร์ .. ท่านลงไปทำธุระที่แม่สอด วันนั้นเองก็มีชาวบ้านมาถามหลวงพี่ว่ารู้จักพระรูปนั้นนานหรือยัง เพราะท่านก็พึ่งจะมาถึงแม่จันประมาณเดือนเดียวและบอกกับชาวบ้านว่าท่าน (หมายถึงหลวงพี่รูปนั้น) มาจากวัดพระธรรมกายซึ่งมีเงินเยอะ และวัดพระธรรมกายจะมาลงทุนพัฒนาสำนักสงฆ์แห่งนี้ จำนวนเงินที่ท่านบอกชาวบ้านนั้นมากโขเชียวแหละ ขออย่างเดียวให้ชาวบ้านช่วยรื้อกุฏิเก่าๆออก และให้ช่วยกันตัดต้นไม้และกอไผ่รกๆให้หมด หลวงพี่ก็อธิบายไปว่าท่านบวชในโครงการที่วัดจัดก็จริงแต่จะอ้างว่าเป็นพระวัดพระธรรมกายนั้นไม่ได้ เรื่องวัดพระธรรมกายมีเงินเยอะนั้น ค่าใช้จ่ายเยอะกว่า อย่างจัดบวชทั่วประเทศนี่ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล หลวงพี่ก็เลยถามว่าจริงไหมที่ท่านอ้างชาวบ้านอย่างโน้นอย่างนี้เช่นเรื่องไม่อยากให้จ้างคนขับรถ ชาวบ้านก็บอกว่าไม่จริง พระอาจารย์มีรถเองก็ดีแล้ว ใครจะว่างไปส่งพระอาจารย์ได้ทุกวัน
         
         .. อ้ออย่างนี้นี่เอง .. วันแรกๆที่หลวงพี่มาถึงจึงเห็นต้นไผ่ลำเบ้อเร่อจำนวนมากโดนฟันยืนแห้งตายอยู่ริมเขา และมีกอไผ่ที่โดนไฟเผาอีกหลายกอทั้งบริเวณหลังครัวและสนามหญ้าที่พระสีวลีอยู่ นอกจากนั้นยังมีเศษอัฐบริขารเครื่องใช้ของพระอยู่ในบริเวณกุฏิเก่าที่พึ่งถูกรื้อถอนออกไปด้วย กุฏิเก่าที่โดนรื้อไปนั้นอยู่บริเวณริมเขาตรงกันข้ามกับสนามหญ้าด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านบอกว่าก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ พระครูวัดบนบอกหลวงพี่ว่าเมื่อก่อนนั่งรถผ่านเขาวงพระจันทร์มองเข้ามาจะเห็นเป็นดงไผ่ร่มครึ้ม ท่านมาอยู่แค่เดือนเดียวโล่งโจ้งหมด ตอนหลังชาวบ้านก็มาบอกว่าเคยมีเจ้าที่พิทักษ์ป่ามาหาพระรูปนั้นสงสัยจะเป็นเรื่องการตัดต้นไม้



ภาพกุฏิที่ไฟไหม้จริง



         ส่วนเรื่องกุฏิที่โดนไฟไหม้นั้นเรื่องราวก็คลุมเครือมาก หาข้อสรุปไม่ได้ว่าเกิดเพราะอะไร รู้แต่ว่าคืนที่ไฟไหม้ ทั้งพระทั้งเณรก็จำวัตรอยู่ในนั้น ท่านบอกหลวงพี่ว่าวันนั้นมีชายแปลกหน้าคนหนึ่งมาขอพักด้วย พอตกกลางคืนก็มีรถคันหนึ่งมาจอดอยู่แถวๆวัดแล้วชายคนนั้นก็หายไปพร้อมกับรถคันนั้นขณะที่ไฟไหม้ แต่พอถามสามเณรกับชาวบ้านก็ไม่มีใครเคยเห็นชายและรถคันดังกล่าว .. 

          เมื่อพบกันในเช้าวันรุ่งขึ้นต่อหน้าชาวบ้าน ท่านจำนนต่อพยานหลักฐาน ก่อนจากไปท่านได้กล่าวอาฆาตหลวงพี่ไว้ด้วย


  เมื่อทราบเรื่องราว 
 พระอาจารย์ที่ดูแลจังหวัดตาก......ได้แนะนำให้หลวงพี่ 
 ถอนตัวออกจากพื้นที่เพราะห่วงว่าจะเป็นอันตราย  


          หลวงพี่คิดไปคิดมาก็ตัดสินใจอยู่ต่อ แต่ก็เสียวๆอยู่หลายวัน กลางคืนและเช้ามืดจะเข้าออกที่พักก็คอยระมัดระวังตัว เพื่อความไม่ประมาทหลวงพี่จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ .. ไม่นานก็มีคนพบว่าท่านลาสิกขาแล้ว และหลวงพี่ก็ไม่เคยเจอชายคนนี้อีกเลย ..





        หลวงพี่สอบถามความเป็นมาจนชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้มีพระรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อเนื่องกันถึงสิบกว่าปี ท่านอยู่รูปเดียวในกุฏิที่โดนไฟไหม้ไปและไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรร่วมกับชาวบ้านนัก มาไม่กี่เดือนก่อนนั้นท่านมีปัญหากับชาวบ้านซึ่งทำให้ท่านต้องย้ายออกไป ทำให้วัดร้างไปชั่วขณะ แล้วพระรูปนี้ก็มาถึงโดยที่จริงๆแล้วท่านรู้จักกับคณะคนทรงฤาษี ไม่ใช่จาริกธุดงค์มาเจอวัดร้างโดยบังเอิญอย่างที่บอกโยมป้า และคนทรงฤาษีนี้ก็มาทำกิจกรรมทรงๆสิงๆอยู่เป็นระยะๆที่นี่ เพราะชาวบ้านบางส่วนนับถือเรื่องพวกนี้ และดูเหมือนว่าเจ้าอาวาสองค์ก่อนกับคณะคนทรงนี้ไม่ค่อยถูกกัน .. 

          อ่านแล้วงงๆก็ช่างเถิดนะ เอาเป็นว่ามาถึงจุดนี้ ภายในเวลาไม่กี่เดือน สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์มีหลวงพี่มาอยู่เป็นรูปที่สาม ก็ถามชาวบ้านว่า วัดพระธรรมกายไม่มีเงินเหลือเฟือจะมาสร้างอะไรอย่างที่พระรูปนั้นบอกหรอก


         "อย่างนี้แล้วยังยินดีจะให้หลวงพี่มาใช้สถานที่นี้จัดบวชอยู่ไหม"?


           ชาวบ้านบอกว่าเข้าใจและอยากนิมนต์หลวงพี่อยู่ช่วยดูแล หลวงพี่ก็เลยบอกให้ทำหนังสือแจ้งเจ้าคณะตำบลอย่างเป็นทางการ ซึ่งชาวบ้านก็ยินดี 



  หลวงพี่จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น  
เจ้าสำนักเขาวงพระจันทร์มาแต่บัดนั้น ..

>>  นี่คือสภาพสำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์
เมื่อไปถึงใหม่ๆ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว  <<
ทางเข้าด้านทิศตะวันตก

ศาลาตอนหลวงพี่ไปถึง


บันไดขึ้นถ้ำ

ทางเดินไปถ้ำ


ภายในถ้ำ


ด้านหลังพระพุทธรูป ต้องคลานเข้าไปเหมือนตุ๊กแกเข้าไปข้างใน

อาคารเอนกประสงค์


ครัว


2 ก.ย. 2559 11:02 
โดยพระธาดา จรณธโร

ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์
(องค์กรสาธารณประโยชน์)




อ่านบทนำ - บทที่ 6ได้ที่ 
http://buddhisthotissue.blogsp ot.jp/2016/08/series_1.html


อ่านบทที่ 7 : ชีวิตคือการเดินทาง ได้ที่

อ่านบทที่ 8 : Been there .. Done that ..
http://buddhisthotissue.blogspot.sg/2016/08/8-been-there-done-that-series.html

อ่านบทที่ 9 : My way
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/9-my-way-series.html

อ่านบทที่ 10 : ซาโยนาระ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/10-series.html

อ่านบทที่ 11 : ชีวิตใหม่...ในเพศสมณะ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/11-series.html

อ่านบทที่ 12 : หนีเสือปะจระเข้
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/12-series.html

อ่านบทที่ 13 : จากเทือกเขาถนนธงชัยถึงสมุทรสงคราม
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/13-series.html

อ่านบทที่ 14 : อุ้มหัวใจไป...อุ้มผาง
http://buddhisthotissue.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 15 : อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน รุ่นห้าแสน
http://myalphabet2016.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 16 : สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/16-series.html

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

บทที่ 16 สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์ (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)

เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล

โดยพระธาดา จรณธโร 
ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ (องค์กรสาธารณประโยชน์)
......................................



นายธานินทร์  กรัยวิเชียร



         สมัยเรียนชั้นมัธยม ถ้าจำไม่ผิดประเทศไทยยุคนั้นปกครองโดยรัฐบาลหอยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียรซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หนังสือพิมพ์จึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรตรงๆได้ เอ่อ..ฟังแล้วคุ้นๆนะ สถานการณ์แบบนี้กับประเทศไทย .. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงฉีกแนวด้วยการเอานิยายกำลังภายในมาลงซะเลย ชื่อเรื่องอินทรีย์ผงาดฟ้า แปลโดย น.นพรัตน์ (นักแปลดังอีกคนหนึ่งแห่งยุคคือ ว. ณ เมืองลุง) พระเอกชื่อเต็งพ้ง โอ..ติดกันงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมือง รวมถึงหลวงพี่ด้วย ต่อมาไทยรัฐลงอีกเรื่องหนึ่งชื่อหงษ์แดงตะแคงฟ้า นึกว่าฉายกำลังภายในทีเดียวสองเรื่องควบ ที่ไหนได้กลายเป็นเรื่องของทีมฟุตบอลที่ตอนนั้นกำลังรุ่งเรืองสุดขีดคือลิเวอร์พูล


         หลวงพี่นึกไม่ถึงเลยว่าวันหนึ่งจะได้เป็นเจ้าสำนักกับเขาเหมือนกัน .. ไม่ใช่เส้าหลิน บู๊ตึง หรือง่อไบ๊ แต่เป็น



"สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์"

  
         ช่วงอบรมอุบาสิกาแก้วนี่เอง พระรูปที่อยู่แม่จันพร้อมกับชาวบ้าน มาชวนให้หลวงพี่ไปดูสำนักสงฆ์ชื่อโรแมนติคแห่งนี้ ท่านรู้ว่าหลวงพี่กำลังหาสถานที่จัดอุปสมบทหมู่รุ่นเข้าพรรษาอยู่ ท่านบรรยายว่าเนื้อที่กว้างขวาง พอกางเต๊นท์ได้เป็นร้อยหลัง ใช้อบรมพระได้สบายๆ ที่สำคัญมีถ้ำด้วย ตรงนี้ทำให้หลวงพี่สนใจมากทีเดียว ก่อนหลวงพี่จะขึ้นมาอุ้มผาง หลวงพี่ได้ไปอยู่ปริวาสที่วัดถ้ำเขาวง อำเภอปากช่อง และชอบบรรยากาศการนั่งสมาธิในถ้ำมาก มันเย็นและเงียบดี 
ภายนอกวัดถ้ำเขาวง
ภายในวัดถ้ำเขาวง

ภายในวัดถ้ำเขาวง


         ก่อนปิดการอบรมหลวงพี่จึงพาอุบาสิกาแก้วไปเปลี่ยนบรรยากาศ ด้วยการพาทุกคนไปเที่ยวแม่จัน เมื่อไปถึงก็พบว่าสำนักสงฆ์แห่งนี้ อยู่ในหมู่บ้านกล้อทอ(ภาษาปากะญอ กล้อ=วัว ทอ=ยาว กล้อทอคือวัวยาว) ส่วนแม่จันเป็นชื่อตำบล เห็นเขาใช้สองคำนี้สลับกันไปมา ไปแม่จันก็คือไปกล้อทอ

         ใครจะเป็นคนตั้งชื่อให้สำนักสงฆ์แห่งนี้ก็ไม่รู้ แต่ถ้าลองกูเกิ้ลคำนี้ดูมักจะไปเจอวัดเขาวงพระจันทร์ที่ลพบุรี เลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่เคยผ่านลพบุรีและนำชื่อวัดนั้นมาตั้งให้กับสำนักสงฆ์แห่งนี้ ตอนหลังหลวงพี่มีอีกทฤษฎีหนึ่ง เพราะเมื่อดูด้วยแผนที่กูเกิ้ลเอิร์ธที่บริเวณเขาพระบาท (จะเขียนเรื่องเขาพระบาทนี้ในภายหลัง) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกันนั้นพบว่ามันเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวอย่างชัดเจน (อ้อ เต็งพ้งมีอาวุธคู่กายคือดาบโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยว!) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คนที่เอาลักษณะของเขาพระบาทที่มองจากอวกาศมาตั้งเป็นชื่อสำนักสงฆ์แห่งนี้ก็ไม่ธรรมดาทีเดียว

  สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์  


         ด้านใต้ของสำนักสงฆ์นี้อยู่ติดกับภูเขาลูกย่อมๆซึ่งอยู่กลางหมู่บ้านอีกทีหนึ่งมีถนนล้อมรอบ เคยเอา GPS วัดพื้นที่ของภูเขาลูกนี้ได้ประมาณ 15 ไร่ โดยพฤตินัยแล้วภูเขาทั้งลูกนี้เป็นของสำนักสงฆ์ และในภูเขาแห่งนี้แหละที่มีถ้ำ ดูจากสิ่งก่อสร้างแล้ว สำนักสงฆ์แห่งนี้คงมีอายุหลายสิบปี ด้านตะวันตกและด้านเหนือเป็นด้านที่ติดกับหมู่บ้าน ที่สนามหญ้ามีพระยืนลักษณะจำลองมาจากพระประธานที่พุทธมณฑล มีศาลาหลังใหญ่จุคนได้ประมาณเกือบสองร้อยคนอยู่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ ทำหลังคาเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่มีบันไดและพื้นชั้นสอง สอบถามได้ความว่าสร้างแทนศาลาหลังเก่าที่มีขนาดเล็กเกินไป มีห้องน้ำอยู่หกเจ็ดห้อง มีโรงครัว มีอาคารเอนกประสงค์ขนาดประมาณ 4x6 เมตรหนึ่งหลังซึ่งมีห้องน้ำเป็นบริวารอยู่ติดๆกัน มีศาลาหลังปานกลางอีกหนึ่งหลังทั้งหมดนี้เรียงรายกันอยู่ทางด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสนามหญ้ารูปชายธงเพราะถนนด้านเหนือสอบเข้ามาและมีรูปปั้นพระสีวลียืนแบกกลดสะพายบาตรอยู่ ตรงกลางมีถนนสายหลักของสำนักสงฆ์วิ่งในแนวออก-ตก ตรงข้ามกันอีกฝั่งถนนของศาลาหลังปานกลางคือด้านทิศใต้ที่ติดภูเขามีศาลาหลังเล็กข้างในมีพระพุทธรูป และมีรูปปั้นฤาษีซึ่งสะดุดตามากยืนเฝ้าอยู่ ถัดไปอีกนิดทางตะวันตกของศาลาฤาษีมีอาคารสองชั้นสภาพพึ่งโดนไฟไหม้เสียหายมากอยู่หนึ่งหลัง วนกลับไปที่เชิงบันไดขึ้นถ้ำมีศาลาหกเหลี่ยมอยู่สองหลัง เมื่อขึ้นบันไดไปถึงระดับถ้ำมีศาลาหกเหลี่ยมอีกหนึ่งหลังทำหน้าที่เป็นหอระฆัง ทางซ้ายเป็นทางเดินไปถ้ำ ตรงด้านหน้าศาลาหอระฆังนี้มีเจดีย์ขนาดย่อมๆอยู่ 

         สำนักสงฆ์แห่งนี้มีทางเข้าออกหลักอยู่สองทาง คือทางทิศตะวันออกด้านพระสีวลีออกไปเจอถนนที่วิ่งออกมาจากหมู่บ้านและออกไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 1288 ด้านขวามือของถนนจากหมู่บ้านจนถึงถนนใหญ่นี้มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่มีขนาดประมาณเกือบหนึ่งไร่ (ภายหลังหลวงพี่เรียกมันว่าหนองน้ำเจ้าปัญหา มันสร้างปัญหาให้หลวงพี่อย่างคิดไม่ถึงทีเดียว) ทางเข้าออกอีกทางหนึ่งคือด้านตะวันตกผ่านหน้าศาลาใหญ่ออกไปหมู่บ้าน เนื้อที่ของสำนักสงฆ์แห่งนี้ถ้าไม่รวมภูเขาแล้วมีประมาณ 4-5 ไร่เท่านั้น

            พระรูปที่บวชมาจากแม่สอดพาชาวบ้านมาต้อนรับหลวงพี่และอุบาสิกาแก้วอย่างอบอุ่นทีเดียว แล้วก็ให้เด็กชาวบ้านพาหลวงพี่มุดถ้ำ ต้องใช้คำว่ามุดจริงๆ ภูเขาลูกนี้เป็นคล้ายจอมปลวกยักษ์ ภายในเป็นถ้ำเล็กถ้ำน้อยเชื่อมถึงกันหมด มีทางเข้าออกหลายทางทำให้อากาศภายในถ้ำถ่ายเทได้ดี จากศาลาหอระฆังเดินเลาะริมเขาไปนิดเดียวก็ถึงปากถ้ำซึ่งค่อนข้างกว้าง นั่งสมาธิได้หลายสิบคน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ หลังพระพุทธรูปองค์นี้เอง มีช่องทางเข้าไปสู่ภายในภูเขา เสียแต่ว่ามันเป็นช่องแคบที่ต้องคืบคลานเข้าไปเท่านั้น คลานก็คลาน เรื่องอย่างนี้หลวงพี่ไม่ถอยอยู่แล้ว แล้วก็พบว่าหลังช่องแคบนั้นมีโพรงถ้ำใหญ่กว่าถ้ำด้านหน้าเสียอีก ที่พื้นมีมูลค้างคาวเต็มไปหมด แต่ไม่อึดอัดอับชื้น ถ้าปรับปรุงหน่อยเดียวใช้นั่งสมาธิสบายไปเลย มัคคุเทศน์น้อยพาหลวงพี่มุดถ้ำต่อไปอีกจนมาออกอีกทางหนึ่งด้านหลังเขา 

         หลวงพี่ชักชอบสำนักสงฆ์แห่งนี้เสียแล้ว แม้ต้องแลกด้วยระยะทางที่ผ่านป่าเขาอีก 38 กิโลเมตรจากอุ้มผาง แถมไฟฟ้า และคลื่นโทรศัพท์ก็ไม่มี น้ำประปาก็มีปัญหา หลวงพี่มาลองช่างน้ำหนักดูระหว่างการยืมสถานที่ของวัดบนกับการใช้ที่แห่งนี้ แม้พระครูท่านจะเมตตาเพียงไรแต่ท่านก็ต้องปรับกิจวัตรกิจกรรมของท่านเป็นอย่างมาก การอบรมอุบาสิกาแก้วนั้นแค่ 2 อาทิตย์ แต่การอบรมพระใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ก็รู้สึกเกรงใจท่าน ถ้าจัดบวชที่แม่จัน อย่างน้อยหลวงพี่ก็รู้สึกว่าพระรูปนี้เป็นพระน้อง เพราะท่านบวชมาจากโครงการบวชแสนของวัดพระธรรมกาย มีท่านอีกรูปหนึ่งก็ช่วยๆอบรมกันไป เมื่อคุยกันท่านก็บอกว่ายินดียกให้เลย แต่หลวงพี่บอกท่านว่า ท่านพบสถานที่นี้ก่อนให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส หลวงพี่ขอเป็นผู้ขอยืมใช้เป็นสถานที่จัดบวชพระรุ่นเข้าพรรษาเท่านั้น 

          เรื่องไฟฟ้าและโทรศัพท์นั้น หลวงพี่พอมีทางออกในใจแล้ว หนักใจก็ระบบประปาของหมู่บ้าน ฟังว่าลำพังชาวบ้านใช้กันเองก็ไม่ค่อยเพียงพอแล้ว ถ้าจัดอบรมธรรมทายาทครั้งละหลายสิบรูปคงไม่พอใช้แน่นอน แต่ได้ยินว่าทางเทศบาลยินดีจะเอารถน้ำมาเติมให้ จีงตกลงกันว่าหลวงพี่จะย้ายเข้ามาพักที่สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์ในต้นเดือนพฤษภาคม

          วันนั้นเราแวะเที่ยวดูหนองแดงที่ตีนดอยพระบาท ซึ่งมีปลาบึกอยู่เป็นฝูง แต่ไม่มีเวลาขึ้นดอยพระบาท ขากลับเราแวะไปดูถ้ำประปา คือถ้ำที่ชาวบ้านใช้น้ำไปทำประปาใช้ในหมู่บ้านนั่นเอง และเป็นแหล่งกำเนิดห้วยกล้อทอ (วันหลังจะพาเที่ยวห้วยนี้กันนะ) 



ห้วยกล้อทอ น้ำตกทีลอซูก็อยู่ห้วยนี้ด้วย

          วันแรกที่หลวงพี่ย้ายเข้ามาพักที่สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์นั้น หลวงพี่เลือกกางเต๊นท์พักที่ศาลาหกเหลี่ยมริมเขาติดบันไดที่เดินขึ้นถ้ำ ส่วนพระรูปนั้นกับสามเณรลูกหลานชาวบ้านที่บวชภาคฤดูร้อนสี่ห้ารูปพักกันอยู่ในอาคารเอนกประสงค์ แต่เดิมท่านพักกันในกุฏิไฟไหม้ ภายหลังศาลาหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บปูนด้วย หลวงพี่จำวัตรอยู่ใกล้ๆกับถุงปูนอยู่นานทีเดียว ส่วนห้องน้ำต้องเดินข้ามสนามหญ้าไปใช้ที่ข้างศาลาใหญ่ด้านเหนือ โชคดีที่พระทุกรูปที่บวชจากวัดพระธรรมกายจะถูกฝึกมาให้ทนต่อความลำบากตรากตรำ ตอนหลวงพี่อบรมพระนวกะ ต้องกางกลดนอนกลางแจ้งในลานกัลปพฤกษ์ (ซึ่งหลวงพี่เองเป็นหนึ่งในเจ้าภาพร่วมปลูกเมื่อปี 2529 ต่อมาต้นกัลปพฤกษ์ได้ถูกย้ายมาอยู่บริเวณที่เรียกว่าแจ่มจันทร์) อยู่กันเป็นเดือนๆช่วงหน้าฝน ถ้ากางกลดและผ้าพลาสติคไม่ดีหรือเจอที่ลุ่ม เวลาฝนตกได้เปียกมะล่อกมะแล่ก หรือต้องนอนแช่น้ำกันทีเดียว  บางทีก็มีตะขาบมาเกาะมุ้งเป็นเพื่อน อีกทั้งต้องเดินไปไกลมากกว่าจะถึงห้องน้ำ ตอนขึ้นพรรษาสองก็ได้เดินธุดงค์ข้ามเขาใหญ่จากปราจีนบุรีไปปากช่อง แถมช่วงเดินธุดงค์นี้เราฉันกันวันละมื้อเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมาอยู่ที่เขาวงพระจันทร์หลวงพี่จึงไม่รู้สึกลำบากอะไร 



          ดึกคืนนั้นท้องฟ้าใสไม่มีเมฆหมอก อากาศก็เย็นสบายดีเหลือเกินขนาดเป็นปลายฤดูร้อน หลวงพี่เดินออกมาที่สนามหญ้าแล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาคือท้องฟ้าที่งดงามที่สุด มันคือท้องฟ้าจริงไม่ใช่ท้องฟ้าจำลองอย่างที่หลวงพี่ชอบไปดูที่เอกมัย (ภายหลังได้ยินว่าท้องฟ้าจำลองย้ายไปอยู่ที่คลองห้าแถวธัญญบุรี) หมู่บ้านกล้อทอตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อย่างมากก็มีแสงจากหลอดไฟที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ตรงนี้ดวง ตรงนั้นดวง ห่างๆกัน ท้องฟ้าจึงมืดสนิทเห็นดาวได้ชัดเจน หลวงพี่พอจำหมู่ดาวหลักๆได้ มองหาไม่นานก็พบดาวเหนือ ซึ่งปกติดาวเหนือนั้นมีความสว่างน้อยและอยู่ใกล้ขอบฟ้า การมองหาดาวเหนือนั้นถ้าไม่ชำนาญและภูมิประเทศกับท้องฟ้าไม่เป็นใจก็ใช่ว่าจะหามันได้ง่ายๆ วินาทีนั้นหลวงพี่ก็บอกตัวเองว่า..ใช่เลย..ประมาณนี้เลย 






.. วับวาวอยู่บนฟ้า นับดาวที่อยู่บนฟ้า นับดาวหมื่นพันดวงทุกคืน ..

          ต่อมาในคืนเดือนมืดคืนหนึ่งในฤดูหนาว บนท้องฟ้ามีดาวเต็มไปหมด มองขึ้นไปก็เห็นเหมือนใครไปทำแป้งหกไว้เป็นทางขาวพาดไปบนท้องฟ้า .. ใช่แล้ว .. ทางช้างเผือก .. หรือพระแม่คงคาสวรรค์ที่กามนิตกับวาสิฏฐีนัดไปพบกันนั่นเอง ..



2 ก.ย. 2559 10:05 
โดยพระธาดา จรณธโร

ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์
(องค์กรสาธารณประโยชน์)




อ่านบทนำ - บทที่ 6ได้ที่ 
http://buddhisthotissue.blogsp ot.jp/2016/08/series_1.html


อ่านบทที่ 7 : ชีวิตคือการเดินทาง ได้ที่

อ่านบทที่ 8 : Been there .. Done that ..
http://buddhisthotissue.blogspot.sg/2016/08/8-been-there-done-that-series.html

อ่านบทที่ 9 : My way
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/9-my-way-series.html

อ่านบทที่ 10 : ซาโยนาระ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/10-series.html

อ่านบทที่ 11 : ชีวิตใหม่...ในเพศสมณะ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/11-series.html

อ่านบทที่ 12 : หนีเสือปะจระเข้
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/12-series.html

อ่านบทที่ 13 : จากเทือกเขาถนนธงชัยถึงสมุทรสงคราม
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/13-series.html

อ่านบทที่ 14 : อุ้มหัวใจไป...อุ้มผาง
http://buddhisthotissue.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 15 : อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน รุ่นห้าแสน
http://myalphabet2016.blogspot.com/2016/09/14-series.html

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

บทที่ 15 : อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนรุ่นห้าแสน (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)


เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล

โดยพระธาดา จรณธโร 
ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ (องค์กรสาธารณประโยชน์)
......................................




          การไปจัดอบรมอุบาสิกาแก้วครั้งนี้ น้องผู้ประสานงานได้ประสานงานไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยได้ไปยืมสถานที่วัดอุ้มผาง (เรียกกันว่าวัดบน เพราะมีอีกวัดหนึ่งชื่อวัดพาณิชนิรมลอยู่ใกล้ๆกันเรียกว่าวัดล่าง) เป็นที่อบรม พระครูเจ้าอาวาสท่านเมตตามาก ท่านอนุญาตให้หลวงพี่ดำเนินการทุกอย่างตามเห็นสมควร และยังให้หลวงพี่พักที่กุฏิรับรองของท่านอีกต่างหาก 

         สมัยเป็นพระพี่เลี้ยงที่วัดพระธรรมกายตอนบวชใหม่ๆนั้น นอกจากพระอาจารย์ผู้เทศน์สอนแล้ว จะมีทีมพี่เลี้ยงหลายคนแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบงานด้านต่างๆ เรียกว่าบุญ เช่นบุญสถานที่ บุญธุรการ บุญโสตสื่อ บุญอาหาร บุญวิมาน(ห้องสุขา) บุญพี่เลี้ยงกลุ่ม บุญกิจกรรมพิเศษ เป็นต้น จำนวนพี่เลี้ยงก็แล้วแต่จำนวนผู้เข้าอบรม

         แต่การจัดอบรมครั้งนี้เนื่องจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อให้เปิดศูนย์อบรมแทบจะทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวนพี่เลี้ยงจึงมีจำกัด นอกจากหลวงพี่เองแล้วก็มีพระพี่เลี้ยงรูปหนึ่งพึ่งบวชได้หนึ่งพรรษา และอาสาสมัครผู้หญิงที่รับการอบรมจากวัดในหลักสูตรเร่งรัดมาช่วยอีก 2-3 คน แต่บุคคลสำคัญที่ช่วยได้อย่างมากก็คือโยมป้าจากแม่สอดนั่นเอง และมีโบนัสคือภายหลังมีอุบาสิกาจากวัดพระธรรมกายมาช่วยงานทั่วไปและช่วยถ่ายภาพอีกหนึ่งคน และพระจากกองวางแผนฯ อีกหนึ่งรูป

         โยมป้าท่านรู้จักกับเจ้าอาวาสวัดล่างเป็นอย่างดี และหลวงพ่อวัดล่างนี้ท่านก็เป็นผู้กว้างขวางในอุ้มผางและให้ความเมตตาหลวงพี่ด้วยดีตลอดมา การเริ่มต้นงานของหลวงพี่นั้นก็นับว่าไม่ได้ยากจนเกินไปนัก



ขอบคุณภาพจาก www.cake2u.com


          นอกจากนั้นโยมป้ายังได้ติดต่อแม่ครัวของวัดบนให้ช่วยเป็นแม่ครัวของโครงการด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะอาหารเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ถ้าเจอแม่ครัวดีก็รอดตัว บางโครงการโชคร้ายไปเจอทีมแม่ครัวหัวการค้า เบิกเต็มที่แต่อาหารไม่พอให้ผู้เข้าอบรมรับประทาน งบประมาณที่วัดมอบให้ไปอาจจะไม่พอเอาได้ง่ายๆ ส่วนหลวงพี่โชคดีมากที่โยมแม่ครัวเป็นคนใจบุญ ฝีมือเป็นเลิศแถมมีประสบการณ์ในการประมาณอาหารได้พอเหมาะพอดี อิ่มหนำสำราญ ไม่เหลือทิ้งขว้าง ที่สำคัญก็คือ เบิกค่าอาหารและค่าแรงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้เสียอีก ก็หมดห่วงเรื่องอาหารไปอีกอย่างหนึ่ง

        
          เรื่องสถานที่นั้น เป็นงานที่หลวงพี่ไม่ค่อยถนัดเลย แต่คราวนี้ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญที่ต้องคิดให้ออกตีโจทย์ให้แตกคือผู้หญิงตั้งหลายสิบคน มาอยู่ในวัด(ที่เราเองก็ไม่คุ้น) จะอยู่อย่างไร จะอาบน้ำ เข้าห้องน้ำอย่างไร จะตากผ้าตรงไหน ทั้งผ้าผืนใหญ่และพวกชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไหนจะการรับประทานอาหาร จุดล้างเก็บภาชนะ โอ..สนุกและท้าทายมากทีเดียว โชคดีที่พระครูเจ้าอาวาสท่านใจดีที่สุด ประหนึ่งว่าท่านยกวัดให้หลวงพี่เลย ตลอดการอบรมท่านและลูกวัดไปอยู่กันในกุฏิที่แยกออกไปต่างหาก เลยทำให้การจัดการสถานที่ค่อนข้างลงตัว เนื่องจากวัดบนมีศาลาและที่พักค่อนข้างพอเพียง มีผู้เข้ารับการอบรมบางส่วนเท่านั้นที่ต้องไปกางเต๊นท์นอนที่ลานจอดรถ



  

          ต้นทุนอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือน้องผู้ประสานงานได้แนะนำให้รู้จักกับกัลยาณมิตรหมายเลขหนึ่งของอุ้มผาง ซึ่งเธอมีเชื้อสายชาวมอญมาจากพม่าได้สามีคนไทยอยู่ที่หมู่บ้านแม่กลองใหม่ มีลูกสองคนคนโตเป็นผู้หญิงคนเล็กเป็นผู้ชาย เธอได้ดูโทรทัศน์ช่อง DMC ของวัดพระธรรมกายโดยบังเอิญ เมื่อทราบข่าวการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนรุ่นแรก เธอก็ชวนเพื่อนและญาติหอบหิ้วกันมาอบรมถึงวัดพระธรรมกาย บ้านของเธอเป็นบ้านแบบชาวไร่ตามบ้านนอกธรรมดา หลังเล็กๆโย้เย้ แต่เมื่อทราบข่าวการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ด้วยทองคำ เธอสละทรัพย์ทำบุญขนาดที่เศรษฐีบางคนทำอย่างเธอไม่ได้ก็แล้วกัน เธอเคยบอกว่าบ้านเดิมของเธอคือเมืองเมาะละแหม่ง(บางคนออกเสียงเป็นเมาะลำใย)ในพม่านั้นมีแต่ศาสนาพุทธ และทุกคนก็นับถือพระกันมาก เธอพึ่งรู้ว่าในโลกนี้มีศาสนาอื่นก็ตอนมาอยู่เมืองไทยนี่เอง 



เมืองมะละแหม่ง

         พูดถึงเรื่องการชวนผู้มีบุญมาบวชนั้น เนื่องจากหลวงพี่ไม่รู้จักใครในอุ้มผางเลย จึงใช้วิธีติดป้ายไวนิลของโครงการตามร้านค้าและชุมชน ตอนกลางวันหลวงพี่ก็ชักชวนลูกหลานของผู้นำบุญหมายเลขหนึ่งนี่แหละไปเดินแจกใบปลิวชวนคนตามบ้านแบบน็อคดอร์ (ทักษะการน็อคดอร์นี้หลวงพี่ได้มาจากตอนเรียนเทคนิคกรุงเทพ ปิดเทอมใหญ่ตอนเรียนปีแรก หลวงพี่ไปสมัครเป็นเซลส์แมนขายสว่านไฟฟ้าหารายได้พิเศษ ทางบริษัทเอารถไปปล่อยพวกหลวงพี่ตามนิคมอุตสาหกรรมแล้วก็แยกย้ายกันเดินขายตามโรงงาน มีคอมมิชชั่นให้ตัวละหนึ่งร้อยบาท) โยมป้าก็ขอให้หลวงพ่อวัดล่างช่วยประสานงานนัดแนะเจ้าอาวาสวัดต่างๆให้รวมคนไว้ พอตกเย็นหลวงพี่และทีมงานก็ออกไปจัดประชุมชักชวนคนมาบวช  หลวงพี่ได้เช่ารถในพื้นที่ไว้ใช้งานหนึ่งคัน โชคดีได้อัตราเช่าถูกกว่าอยู่ในเมืองอีก


           ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่ง ก่อนหลวงพี่จะขึ้นมาอุ้มผาง ในการอุปสมบทหมู่แสนรูปทั่วไทยในรุ่นที่ผ่านๆมานั้น โยมป้าได้ไปวางใบเชิญชวนบวชตามวัดต่างๆในแม่สอด มีพระรูปหนึ่งบวชในโครงการที่ว่าเพราะใบเชิญชวนของโยมป้า ต่อมาได้เดินทางมาอยู่ที่อุ้มผาง และได้ติดต่อมาหาโยมป้าเพราะได้เบอร์โทรศัพท์จากใบเชิญชวนบวช


          พระรูปนี้บอกโยมป้าว่าเมื่อจบโครงการบวชแสนรูปแล้วไม่ได้ลาสิกขา แต่ได้จาริกธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปเจอวัดร้างชื่อสำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์ที่ตำบลแม่จัน ซึ่งห่างออกไปจากตัวเมืองอุ้มผางอีก 38 กิโลเมตร โยมป้าจึงให้ท่านช่วยชวนคนที่แม่จันมาบวชด้วย ซึ่งท่านก็ชวนมาได้ประมาณสิบกว่าคนทีเดียว

          พอถึงวันเปิดอบรมมีหญิงผู้มีบุญชาวอุ้มผางมาเข้าอบรมราวเก้าสิบคน ในจำนวนนี้ผู้นำบุญหมายเลขหนึ่งชักชวนมาถึงเกือบสี่สิบคน ทั้งจากในอุ้มผาง แม่กลอง และจากหมู่บ้านไกลๆ เช่นหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่งซึ่งอยู่เลยแม่จันไปอีกหลายสิบกิโลติดชายแดนพม่า มีตั้งแต่เด็กนักเรียน จนถึงคุณยายคุณย่า โดยเฉพาะมีคุณยายสองพี่น้องชาวปากะญอจากแม่จัน ซึ่งพูดและฟังไทยไม่ออกเลย แต่ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างด้วยความตั้งใจตลอดโครงการ 2 อาทิตย์

         เนื่องจากพระพี่เลี้ยงรูปแรกที่มาช่วยท่านยังไม่ค่อยมั่นใจในการเทศน์สอน หลวงพี่จึงมอบหมายให้ท่านช่วยนำทำวัตรและดูแลเรื่องอื่นๆ เช่นดูแลสถานที่ รักษาเวลา ตีระฆังให้สัญญาณเป็นต้น ซึ่งท่านก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ท่านมาบวชตอนอายุค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็มีความนอบน้อมถ่อมตนให้ความเคารพเชื่อฟังเป็นอย่างดี จีงทำงานด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย ตัวหลวงพี่ดูแลเรื่องโสตสื่อเครื่องเสียงและการเทศน์สอนเองทั้งหมด ส่วนที่เหลือนั้นมีโยมป้าเป็นแก้วสารพัดนึก จัดการดูแลแจกจ่ายงานให้น้องอาสาสมัครและอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน การอบรมจึงดำเนินไปได้ดีอย่างเกินควรเกินคาด

           ทั้งนี้ต้องขอชมอุบาสิกาแก้วชาวอุ้มผางด้วย ทั้งหมดให้ความร่วมมือและมีความเคารพพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยงและเชื่อฟังทีมงานอบรมอย่างดีมาก พวกที่ยังเป็นเด็กและวัยรุ่นก็มีความซื่อใส แบบที่เห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากเด็กในเมือง แม้หลวงพี่จะต้องเทศน์สอนทุกรอบทุกวัน เช้า สาย บ่าย ค่ำ ก็ไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอะไรมากมาย มีแต่ความปลื้มใจที่ได้แสดงธรรม แนะนำสิ่งที่ดีที่ได้เรียนรู้มาจากครูบาอาจารย์ให้ผู้เข้ารับการอบรม 

           ตอนทำงานอบรมอยู่ที่ SITA และ โนเกีย ได้ผลตอบแทนเป็นค่าจ้างเงินเดือน แต่งานอบรมเทศน์สอนตอนบวชเป็นพระมีผลตอบแทนเป็นบุญและความปลื้มใจล้วนๆ 

           นึกถึงปี 2546 ที่ได้ยืนคู่กับประธานกฐินปีก่อนหน้านั้นในการบูชาหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี บัดนี้หลวงพี่ได้ทำมหาทานเป็นประจำโดยไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองเลย




  สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ  
  การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง  

         

           การเริ่มต้นงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงพี่ที่อุ้มผาง ตามนโยบายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย เริ่มต้นได้ค่อนข้างดีทีเดียว ..



30  ส.ค. 2559 20:34
โดยพระธาดา จรณธโร

ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์
(องค์กรสาธารณประโยชน์)




อ่านบทนำ - บทที่ 6ได้ที่ 
http://buddhisthotissue.blogsp ot.jp/2016/08/series_1.html


อ่านบทที่ 7 : ชีวิตคือการเดินทาง ได้ที่

อ่านบทที่ 8 : Been there .. Done that ..
http://buddhisthotissue.blogspot.sg/2016/08/8-been-there-done-that-series.html

อ่านบทที่ 9 : My way
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/9-my-way-series.html

อ่านบทที่ 10 : ซาโยนาระ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/10-series.html

อ่านบทที่ 11 : ชีวิตใหม่...ในเพศสมณะ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/11-series.html

อ่านบทที่ 12 : หนีเสือปะจระเข้
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/12-series.html

อ่านบทที่ 13 : เทือกเขาถนนธงชัยถึงสมุทรสงคราม
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/13-series.html

บทที่ 14 : อุ้มหัวใจไป...อุ้มผาง

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

“ดีเอสไอ” เจอโจทย์ใหญ่ ที่ต้องเคลียร์โดยด่วน “ตับแตก และ สค.1บิน” ??


เป็นปริศนาที่สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ... 
ว่า ทำไม นายธวัชชัย อนุกูล จึงเสียชีวิต ... 



โดยเฉพาะเมื่อผู้ต้องหาคนสำคัญ 
ที่ดีเอสไออยากได้ตัวมานาน 
มาเสียชีวิตในห้องขังของ ดีเอสไอ เอง

คำอธิบายแรก ... จากเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ... ใช้เสื้อ ผูกคอตัวเอง

คำอธิบายต่อมา ... จาก หัวหน้าผู้ควบคุมผู้ต้องขัง ... ใช้ถุงเท้า ผูกคอตัวเอง

จนกระทั่งมาถึงผลชันสูตร .... มีเลือดออกในช่องท้องเนื่องจากถูกของแข็งไม่มีคมและขาดอากาศหายใจ

ดีเอสไอ ระบุว่า ผู้ต้องหาร้องขอถุงเท้า เพราะรู้สึกหนาว เจ้าหน้าที่จึงนำถุงเท้าของนายธวัชชัยเองมามอบให้

คำแถลงของดีเอสไอ อ้างว่า หลังพบว่าผู้ต้องหาพยายามฆ่าตัวตาย ด้วยการใช้ถุงเท้าผูกคอตัวเองกับบานพับประตู เจ้าหน้าที่จาก รพ.มงกุฎวัฒนะ เข้ามาปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจภายในห้องขังประมาณ 15 นาที และอาจเป็นสาเหตุให้กระเทือนไปถึงอวัยวะภายใน

1 ก.ย. 2559 นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ตอบโต้ ดีเอสไอ โดยยืนยันว่า การทำ CPR หรือ การปั๊มหัวใจ ทำที่ทรวงอก ไม่มีผลต่อตับอย่างแน่นอน พร้อมทิ้งประเด็นสำคัญไว้ว่า หน่วยกู้ชีพของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้รับแจ้งเพียงว่า คนป่วยเป็นลมหมดสติ ไม่ได้บอกว่า ผูกคอตาย ... และหน่วยกู้ชีพ พานายธวัชชัย ไปที่ รพ. พร้อมให้ออกซิเจน และช่วยอยู่นาน



3 ก.ย. 2559 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความระบุว่า ได้โปรดแชร์เพื่อทราบทั่วกันว่า ผมและ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดังที่เป็นข่าวและแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะที่เคยเป็นเสนาธิการฝ่ายยุทธการและการข่าวว่า  การเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูล ผู้ต้องหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นน่าจะเป็นการฆาตกรรมที่มีเจ้าหน้าที่ภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษรู้เห็นเป็นใจร่วมมือกับมือสังหาร


  เรามาลองวิเคราะห์กันดีกว่า  

1.ประเด็น ตับแตก เลือดออกในช่องท้อง เพราะอะไร ?


     ประเด็นการผูกคอตาย ... ดีเอสไอ บอกว่า ผู้ต้องหา ใช้ถุงเท้าตัวเอง ที่เจ้าหน้าที่หยิบให้ ไปมัดต่อกัน และผูกคอตาย กับบานพับประตู ... ก็ต้องดูว่า เป็นไปได้หรือไม่ .... ถุงเท้าที่ใช้ คือ ถุงเท้าลักษณะเดียวกับที่ผู้ตายใส่มาด้วย ทั้งสี และความยาว ค่อนข้างสอดคล้องกันจริง แต่ที่ชวนสงสัย คือลักษณะของบานพับประตูห้องขัง ซึ่งมีช่องแคบๆ เท่านั้น คำถามคือ เพียงพอ จะยัดถุงเท้าหนาๆใส่เข้าไปได้หรือไม่  




อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
http://nongsaandee.blogspot.jp/2016/09/dsi_3.html


     
 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :                                         http://nongsaandee.blogspot.jp/2016/09/dsi_5.html

2. “ถ้านายธวัชชัย จะถูกฆ่าตาย” เพราะอะไร ทำไมต้องฆ่าในห้องขัง ดีเอสไอ






        การฆ่าในห้องขังของ ดีเอสไอ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ และองค์กรดีเอสไอ  ใครได้ประโยชน์จากการตาย ของ นายธวัชชัย ... ซึ่งไม่ใช่ชุดสืบสวนทำคดีแน่ๆ เพราะใช้เวลานานมาก กว่าจะตามจับมาได้  




 ประเด็นการตาย ... ไม่เคลียร์ เรื่องก็ไปต่อยาก 


3. สค.1 บิน เล่ห์กล ธวัชชัย ออกเอกสารสิทธิมิชอบ

         การหาความจริงต่อการตายของนายธวัชชัย อนุกูล อาจทำได้อีกทางหนึ่ง ... นั่นคือ ย้อนกลับไปดูเส้นทาง “เอกสารสิทธิ์” ที่เขาออกไว้

         และที่เป็นต้นเหตุให้เขาถูกจับกุม คือ การออกเอกสารสิทธิในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ 13,750 ไร่ ส่วนใหญ่ริมทะเล ตั้งแต่หาดในทอน ถึง ลายัน

    
         ที่เหลือเชื่อกว่านั้น คือ เป็นเพียงหัวหน้าฝ่ายทะเบียน แต่ใช้อำนาจออกเอกสารสิทธิ ในฐานะ รักษาราชการแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต     

   
น่าสนใจว่า “ที่ดินเหล่านี้” ออกเอกสารสิทธิไว้ให้ใครบ้าง .... บางพื้นที่ยังอาจถูกซื้อขายเปลี่ยนมือไปแล้ว ... ปัจจุบัน อยู่ที่ใคร .... และสืบค้นไปถึงใครได้อีก

เพราะ “ธวัชชัย อนุกูล” อาจมีความหมาย มากกว่า หลักฐาน เอกสาร เฉพาะในคดีที่ถูกจับกุม


 งานนี้ “ดีเอสไอ” เจอโจทย์ใหญ่ ที่ต้องเคลียร์โดยด่วน 



         ทางเพื่อนรักนายธวัชชัยกล่าวว่า นายธวัชชัยได้พูดบอกเพื่อนฝูงด้วยความภาคภูมิใจว่า มีบุคคลระดับชาติ ระดับประเทศได้เรียกนายธวัชชัยเข้าไปใช้งาน ซึ่งนายธวัชชัยถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ก็ทำให้ด้วยใจมาตลอด ไม่นึกว่าจะมีใครกล้ามาเอาเรื่องกับนายธวัชชัยถึงขั้นทำให้ตาย เรื่องนี้กลายเป็นเล่าลือกันไปทั่วประเทศว่า ทาง DSI รับใบสั่ง"เก็บ" นายธวัชชัย



 อย่าปล่อยให้การทำคดีที่แสนยากเย็น 

 ของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจต้องสูญเปล่า 
 ไปพร้อมกับวิญญาณของผู้ต้องหาคนสำคัญ 





 ตับแตก + ผู้ครอบครอง สค.1 บิน = ไขปริศนา ธวัชชัย อนุกูล


อ้างอิง
http://Hauhadpaktai.com/view/1765944

รีสอร์ทหรูกลางอุทยานฯ สิรินาถ ผลงาน “ธวัชชัย อนุกูล” (คลิป) : PPTV Thailand
http://www.pptvthailand.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/33884

อดีตป.ป.ช.ชี้“ธวัชชัย อนุกูล”ตายยากที่จะขึ้นเบิกความไปถึงกลุ่มฮุบที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถรวมทั้งที่ในพังงา-ภูเก็ต-กระบี่                       http://www.thaitribune.org/contents/detail/375?content_id=22636&rand=1472874389

รีสอร์ทหรูกลางอุทยานฯสิรินาถ ผลงานธวัธชัย อนุกูล http://www.pptvthailand.com/news/ประเด็นร้อน/33884

Voice  เร่งคดี 

https://mobile.facebook.com/VoiceTVonline/

http://www.pptvthailand.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/33884
รีสอร์ทหรูกลางอุทยานสิรินาถ
ผลงานของธวัชชัย อนุกูล