วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ศพในโกศ เรื่องที่คนอยากรู้ ตอนที่ 1


           การบรรจุศพพระมหากษัตริย์, เจ้านายหรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้รับเกียรติยศในวาระสุดท้ายด้วยการได้รับพระราชทานโกศ แล้วมีคำร่ำลือถึงเรื่องการบรรจุศพลงโกศนั้น ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้จนดูเป็นการทรมานศพหรือเปล่า


พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของโกศ…
            โกศ เป็นภาษาสันสกฤต ดังนั้นรากของวัฒนธรรมการบรรจุศพลงโกศ  จึงมาจากอินเดียโบราณแน่นอน (อินเดียโบราณใช้ภาษาสันสกฤต)  สำหรับเมืองไทย การอัญเชิญพระศพเจ้านายลงในพระโกศนั้นมีหลักฐานย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย เพราะปรากฏข้อความตอนหนึ่งใน “ไตรภูมิพระร่วง” มีการกล่าวถึงการอัญเชิญพระศพลงพระโกศ



ทำไมต้องลงโกศ…
           การเชิญพระศพเจ้านายลงพระโกศนั้น เป็นการจัดท่าพระศพให้เหมือนอยู่ในท่า “นั่งตาย” ประหนึ่งเสียชีวิตในท่านั่งสมาธิ  ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อตายในสมาธิก็ย่อมไปสู่ภพภูมิที่ดีงาม อีกความเชื่อคือการที่อยู่ในท่านั่งงอตัวนั้น เหมือนกับท่าทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นอุบายให้พิจารณาธรรมของมนุษย์ผู้ยังไม่บรรลุนิพพานว่า   เมื่อตายแล้วยังไงก็ต้องกลับมาเกิดอีก และควรจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์มิใช่เดรัจฉาน จึงควรอยู่ในท่าที่เชื่อมโยงกับการที่จะกลับมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ได้ง่ายๆ นั่น คือท่านั่งของทารกในครรภ์มารดานั่นเอง



ท่าประทับในโกศ
          บันทึกที่ค้นพบระบุท่าประทับในพระโกศไว้ว่า “พระเพลา (ขา) อยู่ในท่าประทับนั่ง พระอุรุ (ต้นขา) แนบอยู่กับพระนาภี (ท้อง) พระชานุ (เข่า) เกยอยู่ที่พระหนุ (คาง) พระบาท (เท้า) พันธนาการไว้กับเสาไม้ พระกร (มือ) โอบรอบพระเพลา (ขา)”
ไม้ที่เกยพระหนุ (คาง) ต้องเป็นไม้ที่ปลายเป็นรูปตัว Y เพื่อประคองพระศอ (คอ) และพระพักตร์ (หน้า) เป็นไมัหลักที่อยู่ในพระโกศ เรียกว่ากาจับหลัก ซึ่งไม่ได้เสียบแทงทะลุร่างส่วนใด

          “ระหว่างพระหัตถ์ (มือ) ถวายซองพระศรีทองคำลงยาบรรจุดอกบัวตูม 1 ธูปไม้ระกำ 1 เทียนเล็ก 1 เพื่อเป็นเครื่องสักการะพระจุฬามณี   จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาจะถวายแผ่นทองคำลายดุนปิดที่พระพักตร์”








การบรรจุพระศพลงโกศ
           “เจ้าพนักงานภูษาปูผ้าขาวรวม 3 ผืน  ซ้อนเป็นรูปหกแฉก เขิญพระศพประทับบนผ้าขาว แล้วรวบชายประชุมไว้เหนือพระเศียร ถวายสุกำ(มัด)ด้วยด้ายดิบ ปล่อยชายไว้สอดออกไปต่อกับพระภูษาโยง แล้วอัญเชิญพระศพลงสู่พระลองทอง วางพระเขนย(หมอน) หมุนรอบพระองค์กันเอียง ก่อนปิดฝาพระโกศ”



ภายใต้พระโกศ
           พระศพที่ประทับในพระโกศย่อมจะสลายไปตามเวลา และมีพระบุพโพ (น้ำจากร่างกายเช่นน้ำเหลือง เลือด) ที่ไหลออกมาตามธรรมชาติ ดังนั้นจะมีการสอดท่อเพื่อรับพระบุพโพให้ไหลลงไปรวมกันในถ้ำพระบุพโพ ซึ่งเป็นโถเซรามิกที่วางอยู่ใต้ฐานพระโกศ ถ้ำพระบุพโพนี้จะยาขี้ผึ้งสนิทเพื่อกันกลิ่น เว้นแต่ที่เป็นรูต่อกับท่อพระบุพโพ เมื่อก่อนท่อพระบุพโพนี้ทำจากลำไม้ไผ่เล็ก ๆ ปัจจุบันเป็นท่อพลาสติกใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว




การถวายพระเพลิงพระบุพโพ
          ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงพระศพ จะมีพิธีที่เรียกว่าถวายพระเพลิงพระบุพโพ นั่นคือการอัญเชิญถ้ำพระบุพโพที่เป็นโถเซรามิกบรรจุของเหลวที่เป็นของเสีย จากร่างกายไป “เผา” ก่อน มีบันทึกเรื่องถวายพระเพลิงพระบุพโพไว้ว่า “พระบุพโพนั้นจักอัญเชิญไปเผาพร้อมๆ กับพระสุกำศพ โดยจักกระทำดังนี้ เจ้าพนักงานจักถ่ายพระบุพโพลงในกระทะทองพร้อมเครื่องหอม อาทิ ลูกฝรั่งสุก ใบเนียม แลจุดไฟเคี่ยวไปจนกว่าจะมอดเป็นเถ้า”

          เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่ภูษามาลาต้องถวาย “สำรอก” นั่นคือ “รูดเอาเนื้อหนังมังสา เอ็นน้อย เอ็นใหญ่ทั้งหลายออกมาให้หมด นำไปถวายพระเพลิงพร้อมพระบุพโพ เหลือไว้แต่กระดูกขาวเท่านั้น” แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องถวายรูดเช่นนั้น

ทำไมต้องถวายพระเพลิงพระบุพโพก่อน
           การจัดการเรื่องพระศพทั้งหมดนี้ คือ การจัดการเรื่อง “กลิ่น” ล้วนๆ เพราะสิ่งที่สร้างกลิ่นมากที่สุดคือของเหลวที่เป็นของเสียจากร่างกาย รวมทั้งเนื้อหนังมังสา งานพระศพเจ้านายที่เป็นที่รู้จัก ย่อมเป็นงานที่มีผู้คนมาร่วมกันมากมาย จึงสมควรจัดการเรื่องกลิ่นไม่ให้ไปรบกวนผู้ที่มาร่วมถวายอาลัย และจะไม่เป็นมงคลต่อทั้งคนเป็นและคนตาย ที่สำคัญคือเป็นการถวายพระเกียรติต่อเจ้านายพระองค์นั้นเป็นครั้งสุดท้าย 
           การถวายรูดไม่มีในตอนหลัง เพราะการแพทย์ก้าวหน้าแล้ว มียาฉีดเพื่อกันกลิ่นและรักษาสภาพศพ จึงไม่จำเป็น  

................................................................
อ้างอิง
นิตยสารแพรว เรื่อง : ว่าด้วยศพในโกศ… ไม่น่ากลัวดังคำร่ำลือ…
วิกิพีเดีย : พระโกศทองใหญ่
ขอบคุณ http://btsstation.com/65277

Related Posts

ศพในโกศ เรื่องที่คนอยากรู้ ตอนที่ 1
4/ 5
Oleh

Subscribe via email

Like the post above? Please subscribe to the latest posts directly via email.