วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 21 Unseen ทีลอซู (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)

เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล

โดยพระธาดา จรณธโร 
ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ (องค์กรสาธารณประโยชน์)
......................................



         ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงน้ำตกทีลอซูอยากจะพูดถึงน้ำตกเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อ.." น้ำตกห้วยเลวา ".. เป็นน้ำตกซึ่งอยู่ระหว่างทางจากอุ้มผางไปกล้อทอ ที่จุดต่อระหว่างตำบลหนองหลวงกับตำบลแม่จัน เมื่อก่อนมีป้ายบอกทางไปน้ำตกแต่ต่อมาป้ายชำรุดเสียหายไป คนต่างถิ่นที่ผ่านไปมาเลยหมดโอกาสได้รู้ว่าตรงนี้มีน้ำตกอยู่ น้ำตกหินปูนแห่งนี้ขาไปค่อนข้างง่ายเพราะเดินลงเขาอย่างเดียวประมาณสามสี่ร้อยเมตร ในช่วงหน้าฝนน้ำตกนี้ถือว่าสวยทีเดียว เป็นแอ่งเป็นชั้นขนาดกำลังพอเหมาะให้ได้ชื่นชมธรรมชาติหรือลงไปเล่นน้ำ แต่ตอนขากลับนี่เอาเรื่องสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเพราะต้องเดินขึ้นเขาอย่างเดียวกว่าจะกลับมาถึงถนน ได้ออกแรงกันพอเหงื่อตก ..


น้ำตกห้วยเลวา


น้ำตกห้วยเลวา

น้ำตกห้วยเลวา

         สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปแล้วพอพูดถึงอุ้มผางก็จะนึกถึงน้ำตกทีลอซู  หลังจากตั้งท่ามานานตั้งแต่ก่อนบวช ....ในที่สุดหลวงพี่ก็ไปถึงน้ำตกแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปี 2553 หลังจากอบรมอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อนเสร็จ เส้นทางไปทีลอซู “แบบปกตินั้น” (เดี๋ยวจะเล่าแบบ “พิเศษ” ให้ฟัง) เป็นถนนแยกออกจากทางหลวงหมายเลข 1288 หลังจากเลยหมู่บ้านเดลอคีไปหน่อยหนึ่ง เป็นถนนลูกรังเกือบตลอดเส้นระยะทาง 25 กิโลเมตร ยกเว้นตรงไหนที่สูงชันมากก็จะมีเทคอนกรีตหรือราดยางเป็นช่วงๆ ในหน้าแล้งรถกระบะธรรมดาก็ไปได้ แต่ทางขรุขระวิบากมาก สำหรับคนรักรถ ไม่แนะนำให้เอารถตัวเองเข้าไป เพราะกลับออกมารถช้ำแน่นอน ยิ่งถ้าฝนตกขึ้นมาละก็ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างเดียวเท่านั้น 

          เส้นทางสายนี้จะปิดปีละครั้งเมื่อเข้าฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เพื่อให้ป่าฟื้นตัว และเจ้าหน้าที่คงเบื่อที่จะต้องไปลากรถที่ติดหล่มออกมา ในช่วงนี้ผู้ที่อยากไปเที่ยวทีลอซูก็สามารถไปได้ โดยล่องแพไปจากอุ้มผางแล้วไปขึ้นฝั่งที่ผาเลือดซึ่งเป็นจุดพักกลางทาง จากนั้นเดินเท้าไปตามถนนอีกประมาณสิบกิโลเมตร เมื่อไปถึงบริเวณที่ทำการแล้ว จะต้องเดินต่อไปอีกประมาณเกือบๆหนึ่งกิโลเมตรจึงจะถึงตัวน้ำตก แต่เป็นทางเดินคอนกรีตอย่างดีผ่านเข้าไปในป่า มีป้ายบอกชื่อของต้นไม้และอธิบายธรรมชาติติดอยู่ทั่วไป เนื่องจากตอนที่หลวงพี่ไปถึงทีลอซูครั้งแรกนั้นเป็นช่วงฤดูแล้งน้ำค่อนข้างน้อย แต่กระนั้นน้ำตกทีลอซูก็สวยงามยิ่งใหญ่อลังการมาก น้ำตกชั้นที่สูงที่สุดนั้นสูงหลายสิบเมตร วันนั้นเมื่อหลวงพี่มองขึ้นไปที่ยอดน้ำตกก็เห็นคนยืนอยู่ข้างบน หลวงพี่มองหาทางขึ้นไปบนยอดน้ำตกทันที เดินวนหาอยู่เป็นนานสองนานก็ไม่เจอ ในที่สุดต้องล้มเลิกความตั้งใจ แต่ก็คิดไว้ว่าสักวันหนึ่งต้องหาทางขึ้นไปข้างบนนั้นให้ได้



          หลวงพี่ไปอยู่ที่เขาวงพระจันทร์แล้วจึงได้รู้ว่า ห้วยกล้อทอซึ่งเป็นห้วยประจำหมู่บ้านนี่เองที่เป็นต้นน้ำของน้ำตกทีลอซู ถ้าเดินออกจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือผ่านทุ่งนาไปไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรก็จะถึงถ้ำซึ่งเป็นจุดกำเนิดของห้วยกล้อทอ เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่คล้ายๆอุโมงค์รถไฟ ชาวบ้านบอกว่าเมื่อก่อนมีน้ำและปลาเยอะมาก ภายหลังมีคนไปจับปลากินจนปลาเหลือน้อยเต็มที 


         เนื่องจากชาวบ้านใช้น้ำจากถ้ำแห่งนี้เป็นน้ำประปา จึงมีชื่อเรียกตามนั้นว่าถ้ำประปา ในฤดูร้อนปี 2554 ชาวบ้านได้นิมนต์ให้หลวงพี่ไปทำพิธีบวชถ้ำและป่าโดยรอบให้เป็นเขตอภัยทานไม่ให้มีการล่าสัตว์ จับปลา และตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป 

           ห้วยกล้อทอนี้ไหลผ่านกลางหมู่บ้านทำให้หมู่บ้านแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกที่เขาวงพระจันทร์อยู่และฝั่งตะวันตก มีท้องนาผืนใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่งห้วยทำให้กล้อทอตะวันออกและตะวันตกอยู่ห่างกันพอสมควรเหมือนเป็นคนละหมู่บ้าน อีกทั้งที่ฝั่งตะวันตกก็มีอีกสำนักสงฆ์หนึ่งหลวงพี่จึงบิณฑบาตอยู่แต่เฉพาะฝั่งตะวันออกเท่านั้น ปีไหนถ้าฝนตกดีๆน้ำในห้วยจะท่วมขึ้นมาบนท้องนา เป็นการนำเอาปุ๋ยธรรมชาติมาเติมให้กับดิน ทำให้แม่จันปลูกข้าวได้ผลดีมาก





          เลยทุ่งนาถัดไปทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีอีกชุมชนหนึ่งประมาณสิบกว่าหลังคาเรือนเรียกกันว่า “ฝั่งไทย” ตรงนี้มีสถานีตำรวจเก่าตั้งอยู่แต่ถูกปล่อยร้างมานานนน...มาก ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆก็เห็นสถานีตำรวจแห่งนี้แล้ว เป็นการยืนยันว่ากล้อทอเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุนับร้อยปีทีเดียว สมัยก่อนคงมีข้าราชการและครอบครัวคนไทยอยู่ที่นี่จึงเรียกว่าฝั่งไทย

         ห้วยกล้อทอไหลผ่านท้องนาไปอีกเรื่อยๆจนกระทั่งถึงหมู่บ้านนุเซะโปล้ซึ่งเป็นชุมชนสุดท้ายก่อนที่จะไหลเข้าป่าลึกไปตกหน้าผากลายเป็นน้ำตกทีลอซู..หรือน้ำตกดำในภาษาปากะญอ




          และแล้ววันที่หลวงพี่จะได้มีโอกาสขึ้นไปยอดน้ำตกทีลอซูก็มาถึง มันไม่ใช่เส้นทางที่นักท่องเที่ยวทั่วไปจะมีโอกาสได้ไปกันหรอก .. ตอนนั้นอยู่ในช่วงกลางพรรษาหลวงพี่กำลังวางแผนว่าออกพรรษาแล้วจะพาพระธรรมธายาทไปเดินธุดงค์ที่ไหนดี หนึ่งในทางเลือกนั้นก็คือเดินไปตามห้วยกล้อทอไปถึงน้ำตกทีลอซู ค้างคืนที่ที่ทำการอุทยานสักคืนหนึ่ง แล้วเดินออกไปตามถนนที่นักท่องเที่ยวใช้กันเป็นปกติ เมื่อคิดได้ดังนั้นก็ต้องไปดูความเป็นไปได้ด้วยตนเอง จึงได้ติดต่อไปทางหมู่บ้านนุเซะโปล้ ปรากฎว่ามีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสามารถนำทางไปได้ มีช่วงหนึ่งจำเป็นต้องเดินข้ามน้ำค่อนข้างลึก แต่ในระยะนั้นมีฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน น้ำจึงเยอะมาก ไม่สามารถเดินข้ามน้ำตรงนั้นได้ต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง พอชาวบ้านทราบว่าหลวงพี่จะไปทีลอซูทางหัวน้ำตก บางคนก็ยิ้มๆแบบมีเลศนัย บางคนก็ทำหน้าเหมือนหวาดๆ แต่ทุกคนก็บอกว่าไปได้ไม่มีอันตราย ถามไปถามมาจึงทราบว่าเส้นทางนั้นโดยเฉพาะหน้าฝนมีทากชุกชุมมาก .. บอกตรงๆว่าหลวงพี่ก็ไม่ค่อยชอบนักหรอกที่จะให้ไอ้ตัวยืดๆพวกนี้มาเกาะตัวดูดเลือด แต่ความอยากไปดูเส้นทางให้เห็นกับตามีมากกว่า .. ไปก็ไป .. 

ทากดูดเลือด
ทากดูดเลือด


          เนื่องจากพอมีเวลาเตรียมตัว พวกเราจึงหาข้อมูลกันใหญ่เลยว่าจะป้องกันทากได้อย่างไร บางคนแนะนำว่าใช้ยาสูบแช่น้ำทา  สารถีของหลวงพี่เตรียมป้องกันตัวเต็มที่แบบเอาเปรียบพระนิดๆ เพราะใส่กางเกง สวมถุงเท้าอย่างหนาและยาวเกือบถึงเข่าแถมรองเท้าหุ้มข้อ ส่วนหลวงพี่กับพระพี่เลี้ยงที่ไปด้วยอีกรูปสองรูปไม่ได้เตรียมอะไรพิเศษ มีเสบียงไปฉันเพล หมวกปีกกว้างแทนร่ม กระติกน้ำ กล้องถ่ายรูปกับขาตั้งกล้องไปเท่านั้น และเพื่อความไม่ประมาทก็มีไฟฉายไปด้วยเผื่อไปมืดกลางทาง


ถุงเท้ากันทาก

           ถึงวันเดินทางหลังฉันเช้าแล้วพวกเราแวะไปรับผู้นำทางที่หมู่บ้านนุเซะโปล้แล้วนั่งรถต่อไปทางทิศตะวันตกอีกสี่ห้ากิโลเมตร ก็เจอสะพานข้ามห้วยกล้อทอ เมื่อจอดรถแล้วก็เริ่มเดินเท้ากัน จากจุดนี้เราจะต้องเดินไปอีก 9 กิโลเมตร โดยทั่วไปถ้าเดินสบายๆ คนปกติจะเดินได้ประมาณชั่วโมงละสี่กิโลเมตร แต่นี่เป็นทางในป่า ควรจะใช้เวลาสามสี่ชั่วโมง น่าจะไปทันฉันเพลที่น้ำตกพอดี ทางช่วงแรกเดินผ่านทุ่งข้าวโพดไปเกือบหนึ่งกิโลเมตร แค่นี้ก็เริ่มรู้สึกถึงความยากลำบากแล้วเพราะหนทางเฉอะแฉะ บางช่วงก็ต้องลุยโคลนไป พอหมดไร่ข้าวโพดถึงราวป่ามีรั้วไม้ไผ่กันวัว 




          หนทางต่อจากนั้นไปคือป่าดงดิบ ไม่นานนักก็เจอห้วยกล้อทออยู่ทางซ้ายมือ น้ำใสไหลคดเคี้ยวไปในป่า บางช่วงมีโขดหิน บางครั้งก็มีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ล้มเองตามธรรมชาติแช่น้ำอยู่ โดยทั่วไปสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบ ถ้ามีเนินก็ไม่ได้สูงชันอะไร มีต้นไม้ใหญ่พันธุ์อะไรบ้างหลวงพี่ก็ไม่รู้จักขึ้นเป็นระยะๆ สลับกับกอไผ่ซึ่งมีเยอะเป็นพิเศษ แต่ที่แน่ๆแถวนี้ไม่มีต้นสัก อาจเป็นเพราะระดับความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลเกือบพันเมตรไม่ใช่แบบที่ต้นสักชอบ 





          นานๆทีจะมีห้วยเล็กๆไหลลงเติมน้ำให้ห้วยหลักสักที ระหว่างทางหลวงพี่ไม่ได้สังเกตุเห็นสัตว์ป่าอะไรเลย ถ้าเจอก็คือวัว และแน่นอนไม่ใช่วัวป่า แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ ได้ยินว่าที่หมู่บ้านนุเซะโปล้มีวัวที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันระหว่างวัวบ้านและกระทิงป่า ลูกที่ออกมาจึงได้ลักษณะของทั้งพ่อและแม่และมีตัวใหญ่เป็นพิเศษ หลวงพี่เคยถามปัญหาลูกชายของผู้นำบุญหมายเลขหนึ่งซึ่งตอนนั้นมีอายุประมาณหกเจ็ดขวบว่า กระทิงกับวัวผสมกันลูกออกมาชื่อว่าอะไร หนุ่มน้อยคิดเอาจริงเอาจังเป็นนานสองนานก็ตอบไม่ได้ .. พวกเราลองทายกันดูนะ ทายกันสนุกๆ (ใส่ในคอมเม้นต์ท้ายบล็อกนี้ก็ได้) ไม่ต้องซีเรียส .. ตอนหน้าหลวงพี่จะมาเฉลย


           เดินมาได้ประมาณชั่วโมงหนึ่งเราก็ข้ามมาทางฝั่งซ้ายของห้วย ด้วยความชำนาญเส้นทางผู้ช่วยฯเดินนำหน้าไปค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของคนเดินนำหน้า .. เพราะทากมันไม่ทันตั้งตัว .. ไม่นานนักหลวงพี่ก็ได้ยินพระที่อยู่ข้างหลังบอกว่า “พระอาจารย์ครับ ทากเกาะ” หลวงพี่ก้มลงไปดูก็เห็นจริงดังว่า จึงค่อยๆดึงมันออก แล้วก็พบว่าการดึงทากออกนั้นไม่ง่ายสักเท่าไหร่ พอเจอตัวที่หนึ่งเข้าจึงเริ่มสังเกตุ พอสังเกตุก็เริ่มเห็นว่า ตามเส้นทางนั้นมีไอ้ตัวกระหายเลือดนี้ชูตัวส่ายหาเหยื่ออยู่ตรงนั้นตัว ตรงนี้ตัว บางตัวที่อยู่นอกเส้นทางก็คลืบคลานเข้ามาให้เข้าใกล้ทางที่พวกเรากำลังเดินผ่านไป โดนทากเกาะตัวแรกๆทำให้ต้องพะวงคอยดูที่เท้าและที่ขาอยู่บ่อยๆ บางตัวมันเกาะสูงขึ้นมาถึงเกือบหัวเข่ามองไม่เห็น มารู้ตัวอีกทีก็ตอนมันอิ่มแล้วทิ้งตัวออกเพราะจะเจ็บจี๊ดพอให้รู้สึก แต่ที่แน่ๆก็คือแผลที่ทากกัดนั้นเลือดไม่ค่อยอยากหยุดไหลเท่าไหร่ พอโดนเกาะหลายๆตัวเข้าก็เริ่มชิน ไม่ค่อยสนใจมันแล้ว เห็นเมื่อไหร่ก็แกะออก ไม่เห็นก็แล้วไป ให้มันดูดจนอิ่มเดี๋ยวมันก็แยกทางไปเอง อีตอนที่มันชูคอรออยู่ตามพี้นดินนั้นตัวมันผอมชลูด ขนาดก้านไม้ขีดไฟนี่ก็ถือว่าใหญ่แล้ว แต่พอมันดูดเลือดเข้าไปจนอิ่มนี่ตัวมันขนาดสายให้น้ำเกลือทีเดียว .. พูดถึงขนาดตัวนะ ไม่ใช่ความยาว




          เราไม่ค่อยพักกันนักจนกระทั่งมาได้ค่อนทางก็พบถ้ำเล็กๆแห่งหนึ่งข้างทาง มีรอยกองไฟอยู่ อาจเป็นที่พักของคนเลี้ยงวัวก็ได้ หลวงพี่เคยสัมภาษณ์พระธรรมทายาทรูปหนึ่งว่า ตอนเข้าป่าล่าสัตว์ก่อนมาบวชนั้นเตรียมอะไรไปบ้าง? ไปนอนอย่างไรในป่า? ท่านก็บอกว่า มีข้าว มีน้ำ มีปืนแค่นั้นเอง ง่วงตอนไหนมองหาทำเลที่ไม่รกเกินไปก็นอนตรงนั้นเลย ..ไม่เห็นเหมือนกับที่หลวงพี่อ่านในเพชรพระอุมา .. อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น ไม่กลัวงูเหลือมมานอนเป็นเพื่อนเรอะ ไม่กลัวเสือมาคาบเรอะ ไม่กลัว ฯลฯ เลยเรอะ? 




          แถวๆนี้เป็นป่าทึบ จริงๆแล้วมีสัตว์ป่าพอสมควร แต่เพราะพวกเรามากันหลายคนมีเสียงดัง พวกสัตว์ทั้งหลายจึงซ่อนตัวหรือหลบหนีไปก่อน เคยได้ยินผู้ที่เป็นไกด์นำเที่ยวน้ำตกทีลอซูเล่าให้ฟังว่าบางทีเดินเหยียบสิ่งที่คิดว่าท่อนไม้ แต่พอเหยียบแล้วพบว่ามันหยุ่นๆ ไม่แข็งกระด้าง พอตั้งใจมองดูจึงรู้ว่าที่คิดว่าเป็นต้นไม้นั้นที่ไหนได้ มันคืองูตัวเบ้อเริ่ม .. มันอาจจะกำลังนอนย่อยอาหารเพลินๆอยู่ จึงไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้ตกใจ


unseen น้ำตกทีลอซู

          เดินเลาะฝั่งซ้ายของห้วยกล้อทอมาอีกระยะหนึ่งลำห้วยก็ค่อยๆกว้างขึ้นไม่นานนักทางฝั่งนี้ก็สูงชันขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถไปต่อได้ ที่จุดนี้นี่เองที่เราต้องข้ามน้ำกลับไปฝั่งตรงกันข้าม เห็นแล้วจึงเข้าใจว่าทำใมถ้าน้ำเยอะกว่านี้จึงไม่สามารถข้ามไปได้ .. ห้วยช่วงนี้กว้างประมาณสิบกว่าเมตร มีแผ่นหินปูนเป็นทางเดินธรรมชาติอยู่ใต้น้ำลงไป บางช่วงลึกเกินเข่าขึ้นมาอีก กระแสน้ำก็ค่อนข้างแรงถ้าน้ำสูงกว่านี้สักคืบหนึ่งคงทรงตัวสู้กระแสน้ำไม่ไหวแน่ๆ และถ้าโดนน้ำพัดไปก็ไม่แน่ใจว่าจะหาที่เกาะได้ไหมก่อนจะพุ่งลงหน้าผาไปพร้อมๆกับสายน้ำ ดังนั้นตอนเดินข้ามน้ำช่วงนี้จึงค่อนข้างน่าตื่นเต้นระทึกขวัญทีเดียว พอข้ามมาได้เดินลัดเลาะริมน้ำไปนิดเดียวก็ถึง .. น้ำตกทีลอซู

           ก่อนจะชื่นชมน้ำตกให้สมใจเราหยุดพักฉันเพลกัน สารถีของเราซึ่งเดินมาค่อนข้างสบายไม่ต้องกังวลเรื่องทากพอถึงตรงนี้ก็ถอดรองเท้าออก พลันก็สังเกตุเห็นที่ถุงเท้ามีคราบเฉอะแฉะเป็นจ้ำๆ ด้วยความสงสัยจึงรีบถอดถุงเท้าออกเทลง ไม่น่าเชื่อ สิ่งที่เห็นนั้นคือทากตัวอ้วนๆ หล่นลงมาจากถุงเท้าหลายตัว คราบที่เห็นก็คือเลือดจากแผลที่โดดทากเจาะไว้นั่นเอง เจ้าตัวถึงกับอุทานออกมาด้วยความตกใจและแปลกใจว่า “มันเข้าไปได้ยังไง?” มีคนเดียวที่รอดพ้นมาจากทากได้ก็คือผู้ช่วยฯนั่นเอง ด้วยเพราะเหตุสองประการ ข้อที่หนึ่งแกเดินนำหน้าและก้าวเร็ว คงจะรู้ด้วยว่าตรงไหนทากเยอะที่ต้องระวังเป็นพิเศษ และอีกข้อหนึ่งก็คือถุงเท้าที่ผู้ช่วยฯสวมนั้นหนามากและเนื้อละเอียดแน่นเป็นพิเศษ ทากไม่สามารถชำแรกแทรกตัวเข้าไปได้ ผิดกับถุงเท้าของสารถี ซึ่งเนื้อค่อนข้างหยาบ ตอนทากมันยังไม่ได้ดูดเลือดมันสามารถรีดตัวรอดเข้าไปได้สบายๆ 


          ถึงตอนนี้เราได้ความรู้เพิ่มเติมว่าทากที่เราเจอนั้นเป็นประเภทเบสิกคืออยู่กับพื้น ถ้าไม่ไปเหยียบหรือโดนตัวมันเข้ามันจะเกาะมาไม่ได้ ยังมีอีกพันธุ์หนึ่งเป็นระดับแอดวานซ์คือทากดีด มันจะเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ เมื่อมีเหยื่อผ่านมามันจะดีดตัวเข้าใส่ ในป่านี้ก็มีแต่อยู่อีกเส้นทางหนึ่ง .. พวกเราอยากไปเจอพวกมันกันมั้ย?


          ฉันเสบียงที่เตรียมมาแบบง่ายๆเสร็จก็ถึงเวลาสำรวจน้ำตก พบว่าด้านบนของน้ำตกทีลอซูนี้ จะว่าไปแล้วเหมือนกับมีน้ำตกระดับห้วยเลวาอีกหลายแห่งด้วยกัน น้ำตกย่อยๆเหล่านี้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำท้องถิ่นนั้นๆได้เลย แต่พอมาอยู่ที่นี่มันเป็นได้แค่ตัวประกอบเท่านั้น ตรงช่องหลักที่น้ำกระโจนลงหน้าผานั้นน้ำไหลแรงมากทีเดียว มีก้อนหินอยู่ด้านข้างและมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่จีงพอมีที่ยืนและเกาะได้ พอจะชะโงกหน้าลงไปดูความสวยงามอลังการของสายน้ำ ที่ทิ้งตัวลงไปกระแทกอ่างน้ำเสียงครืนครั่นด้านล่าง ละอองน้ำจากน้ำตกลอยฟุ้งไปทั่วบริเวณน้ำตก จะว่าไปแล้วมีส่วนคล้ายน้ำตกเหวนรกที่เขาใหญ่เพียงแต่ที่นี่สูงกว่าและกว้างกว่าหลายเท่าตัว


น้ำตกทีลอซู ที่มา https://goo.gl/hB65EW




          เมื่อเราสำรวจด้านบนของน้ำตกจนพอใจแล้วหลวงพี่ถามผู้ช่วยฯว่ารู้จักทางลงไปด้านล่างไหมและถ้าลงไปจะกลับขึ้นมาทันออกจากป่าก่อนมืดหรือเปล่า ? 

           คำตอบก็คือ.......ถ้ารีบๆหน่อยก็ทัน 

           ไม่รอช้าพวกเราเดินตามผู้ช่วยฯลงไปทันที ทางลงจากหัวน้ำตกนี้ถ้าอยู่ข้างบนก็คือเลาะเข้าไปในราวป่าทางด้านซ้ายลงมา ระหว่างทางเป็นดงต้นไม้สูงใหญ่ มีช่วงหนึ่งมีลิงอยู่บนยอดไม้ลิบๆเป็นฝูง เมื่อเห็นพวกเราและมั่นใจว่าพวกเราทำอะไรมันไม่ได้ มันก็ทำแบบที่ลิงชอบทำคือ เขย่ากิ่งไม้ยั่วเย้าท้าทาย ก็ดีเหมือนกันเดินป่ามาขนาดนี้ได้เห็นสัตว์ป่าบ้าง เราใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีก็ลงมาถึงลานปูนจุดชมวิวหลัก หลวงพี่รู้แล้วว่าทำใมเมื่อตอนมาครั้งแรกจึงหาทางขึ้นไปหัวน้ำตกไม่เจอ ก็มันไม่ได้อยู่บริเวณน้ำตก แต่ถึงก่อนหน่อยหนึ่งทางด้านขวา และแน่นอนไม่มีป้ายบอกเป็นการชี้โพรงให้กะรอก เราใช้เวลาตรงนี้ไม่นานนักก็เริ่มเดินทางย้อนกลับไปทางเดิม ขากลับนี้ทั้งเหนื่อยทั้งเพลีย ไม่ค่อยมีใครสนใจทากกันแล้ว เกาะได้เกาะไป ถ้าเห็นจึงค่อยแกะออก เมื่อหลุดออกจากราวป่ามาถึงไร่ข้าวโพดก็เย็นมากแล้ว เนื่องจากทางเป็นโคลนจึงมีทากพรางตัวอยู่ในโคลนเกาะดูดเลือดเพลินอยู่ ถึงเวลาที่จะได้ดึงมันออก ปรากฎว่าเมื่อนั่งรถกลับถึงเขาวงพระจันทร์แล้ว จู่ๆหลวงพี่ก็รู้สึกแปล๊บที่หน้าท้องเมื่อเปิดดูจึงพบว่ามีทากจิ๋วซึ่งดูดเลือดอิ่มแล้วสลัดตัวออกมา ก่อนดูดเลือดมันคงตัวเหมือนเส้นดายเพราะขนาดมันอิ่มแล้วตัวมันยังเท่ากับหนังยางยืดเท่านั้น หลวงพี่โยนมันไว้แถวๆหน้าออฟฟิสนั่นแหละ ไม่มีอารมณ์จะพามันกลับไปส่งในป่าหรอก ใจหนึ่งก็เสียวๆว่ามันจะมาแพร่พันธุ์แถวนี้มั้ย ..

            ผลจากการไปสำรวจเส้นทางครั้งนี้ นอกจากเป็นประสบการณ์ล้ำค่าสมกับที่ได้มาอยู่ป่าแล้ว หลวงพี่ก็สรุปได้ว่าการพาธรรมทายาทไปเดินธุดงค์เส้นทางนี้คงไม่เหมาะแน่ 




           หวนนึกถึงตอนเดินขึ้นยอดภูเขาไฟฟูจิ จำได้ว่าเมื่อกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ เนื้อตัวมีแต่ฝุ่นทรายภูเขาไฟซึ่งมันแทรกซึมเข้าไปทุกที่ ขนาดเลนส์กล้องถ่ายรูปเมื่อหมุนโฟหัสยังมีเสียงแกรกๆเพราะฝุ่นทราย ต้องส่งไปล้างที่ศูนย์เสียเงินไปหลายตังค์ หลวงพี่คิดว่าชาตินี้เดินขึ้นยอดภูเขาไฟฟูจิครั้งเดียวก็พอแล้ว .. แต่อีกแค่สองอาทิตย์ให้หลังมีเพื่อนจากเมืองไทยมาเยี่ยมและอยากจะเดินขึ้นยอดภูเขาไฟเป็นอย่างมาก หลวงพี่ไม่ชอบขัดใจคน (จริงๆนะ ถ้าไม่จำเป็นไม่ขัดใจหรอก) ปีนั้นเลยเดินขึ้นยอดฟูจิเสียสองรอบ ขอยืนยันว่าถ้าจะมีครั้งที่สามก็ต้องไม่ใช่เป็นการเดินขึ้นแน่นอน หลังจากอยู่อุ้มผางหกปีเดินขึ้นลงเขาเป็นว่าเล่น ตอนนี้หัวเข่าชักไม่ค่อยดี ถนอมเอาไว้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิดีกว่า


         การเดินป่าไปหัวน้ำตกทีลอซูก็เช่นกัน หลวงพี่คิดว่าครั้งเดียวก็พอแล้ว ทีไหนได้ให้หลังมาอีกสามสี่ปีหลวงพี่ได้ไปอีกครั้งหนึ่ง คราวหลังนี้ไปกันเป็นคณะใหญ่เลย มีทั้งลูกศิษย์ทั้งหญิงทั้งชาย มีพระเณรลูกวัดและแถมด้วยพระเพื่อนๆจากวัดพระธรรมกายอีกสองสามรูป เนื่องจากตอนไปครั้งแรกนั้นหลวงพี่ใช้ GPS บันทึกเส้นทางไว้จึงไม่ต้องให้ใครนำทางไป แต่กระนั้นก็โดน GPS หลอกให้หลงทางอยู่ช่วงหนึ่ง ประกอบกับหยุดพักบ่อยมากไปหน่อย ตามแผนเราจะต้องไปฉันเพลที่หัวน้ำตกแต่ปรากฎว่าต้องแวะฉันกลางทาง กว่าจะไปถึงน้ำตกก็สองสามโมงเย็น คำนวณดูแล้วถ้ากลับทางเดิมเป็นมืดกลางป่าแน่ ไม่สนุกเลยเพราะเป็นคืนเดือนมืดและคราวนี้ไม่ได้เตรียมไฟฉายไปด้วย  จึงเดินลงไปที่ทำการอุทยาน แต่พบว่าแม้จะพอมีที่พักแต่ไม่สามารถหาเครื่องนอนและอุปกรณ์กันยุงได้ เนื่องจากเป็นหน้าฝนถนนปิด จะให้รถเข้ามารับก็ไม่ได้ ในที่สุดจึงตัดสินใจเดินออกทางถนนในคืนนั้น ถึงจะไกลกว่ามากแต่มันก็ยังเป็นถนน ไม่ใช่ป่าทึบเหมือนทางที่เรามา โชคยังดีที่โทรศัพท์ไปแจ้งรถที่รอรับอยู่ที่เลยนุเซะโปล้ไปได้ ไม่งั้นอาจมีคนเดือดร้อนเข้าไปตามหาพวกเราในป่า ..ใช่แล้ว 25 กิโลเมตรกลางป่าในคืนเดือนมืด .. น้ำดื่มหมดไปตั้งแต่เย็น ไม่มีอาหารหรือปานะ เราเดินกันในความมืดตลอดทั้งคืน หลวงพี่ให้ใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์ทีละเครื่องจนแบตหมดทุกเครื่อง จากนั้นลูกวัดได้ช่วยกันทำคบเพลิงจำเป็นจากไม้ไผ่ข้างทางให้ความสว่างว็อบๆแวมๆ 



           เดินไปเรื่อยๆ ระยะทางแค่นั้นเราควรจะใช้เวลาสักห้าหกชั่วโมง เราเริ่มเดินออกมาตอนหัวค่ำ กลางดึกก็ควรจะถึงปากทาง แต่ด้วยความเหนื่อยเมื่อยล้าอ่อนเพลียกระหายน้ำ บางคนเดินไปก็พักไป พระเณรท้องถิ่นที่คล่องตัวหน่อยท่านเดินจ้ำพรวดหายไป นึกว่าหายไปไหน .. ท่านไปนอนรออยู่ช่วงที่ถนนแห้งๆโน่น พอพวกที่เดินช้ามาถึงท่านก็เหมือนเดิม จ้ำพรวดไปนอนรอข้างหน้าอีก .. กว่าจะเจอหลักกิโลเมตรสักทีนานหายห่วง เดินไปค่อนคืนนึกว่าจะถึงปากทาง ที่ไหนได้ถึงแค่ผาเลือด พักเอาแรงกันหน่อยเพราะพอมีที่เอนหลัง แล้วก็เดินกันต่อ พอใกล้ถึงปากทางก็เช้าพอดีมีสัญญาณโทรศัพท์ เลยโทรเรียกสามทหารเสือแม่กลองให้มารับ


          .. ตอนมาถึงปากทางเห็นรถโยมมารอรับอยู่ดีใจแทบแย่ ยิ่งมีน้ำมาให้ดื่มด้วยยิ่งซาบซึ้งใจเข้าไปใหญ่ การไปชมทีลอซูของเราครั้งนี้เป็นระยะทางสามสิบกว่ากิโลเมตร ใช้เวลายี่สิบกว่าชั่วโมง และ .. เดินอย่างเดียว .. 


          ขึ้นยอดภูเขาฟูจิอาจมีครั้งที่สาม ถ้ามีรถหรือฮ.ไปส่ง แต่การเดินไปหัวน้ำตกทีลอซูทางนุเซะโปล้นั้น .. สองครั้งก็เกินพอแล้ว .. 




7 ต.ค. 59 20:16 
โดยพระธาดา จรณธโร

ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์
(องค์กรสาธารณประโยชน์)




อ่านบทนำ - บทที่ 6ได้ที่ 
http://buddhisthotissue.blogsp ot.jp/2016/08/series_1.html


อ่านบทที่ 7 : ชีวิตคือการเดินทาง ได้ที่

อ่านบทที่ 8 : Been there .. Done that ..
http://buddhisthotissue.blogspot.sg/2016/08/8-been-there-done-that-series.html

อ่านบทที่ 9 : My way
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/9-my-way-series.html

อ่านบทที่ 10 : ซาโยนาระ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/08/10-series.html

อ่านบทที่ 11 : ชีวิตใหม่...ในเพศสมณะ
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/11-series.html

อ่านบทที่ 12 : หนีเสือปะจระเข้
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/12-series.html

อ่านบทที่ 13 : จากเทือกเขาถนนธงชัยถึงสมุทรสงคราม
http://buddhisthotissue.blogspot.jp/2016/09/13-series.html

อ่านบทที่ 14 : อุ้มหัวใจไป...อุ้มผาง
http://buddhisthotissue.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 15 : อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน รุ่นห้าแสน
http://myalphabet2016.blogspot.com/2016/09/14-series.html

อ่านบทที่ 16 : สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/16-series.html

อ่านบทที่ 17 : กุฏิไฟไหม้กับตอไผ่
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/17-series.html

อ่านบทที่ 18 : สารถีในฝัน
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/09/18-series.html

อ่านบทที่ 19 : เรื่องมันจำเป็น
http://myalphabet2016.blogspot.jp/2016/10/19-series.html

อ่านบทที่ 20 : สมภารป้ายแดง
http://myalphabet2016.blogspot.com/2016/10/20-series.html

Related Posts

บทที่ 21 Unseen ทีลอซู (เขาว่าหลวงพี่เป็น...ผู้มีอิทธิพล The series)
4/ 5
Oleh

Subscribe via email

Like the post above? Please subscribe to the latest posts directly via email.

4 ความคิดเห็น

Tulis ความคิดเห็น
avatar
8 ตุลาคม 2559 เวลา 07:45

พระอาจารย์ผจญภัยน่าสนุกมากเลยค่ะ น้ำตกก็สวย มากๆเลย ขนาดแค่ลองแพกลางป่าใหญ่ก็ประทับใจมากมายจนต้องไปซะหลายรอบ ถ้าใครไม่ได้ไป..จะเสียดายมากๆเลยค่ะ

Reply
avatar
8 ตุลาคม 2559 เวลา 07:45 ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
avatar
8 ตุลาคม 2559 เวลา 21:07

พอจ.และคณะไปผจญภัยกลางปาแถมได้บุญบริจาคเลือดกลับมาด้วย แหะๆ ไม่ไหวเจ้าค่ะ ขอลุ้นอ่านอยางเดียว

Reply
avatar
8 ตุลาคม 2559 เวลา 21:08

พอจ.และคณะไปผจญภัยกลางปาแถมได้บุญบริจาคเลือดกลับมาด้วย แหะๆ ไม่ไหวเจ้าค่ะ ขอลุ้นอ่านอยางเดียว

Reply